xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอุ้มลงทุนมาบตาพุด ใช้ช่องกม.สิ่งแวดล้อม ภาคปชช.ขู่ฟ้องซ้ำ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลอภิสิทธิ์เร่งทำคลอดร่าง กม.สิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขใหม่อุ้มนักลงทุน ดันเข้า ครม. 13 ต.ค.นี้ พร้อมออกประกาศคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 3 สัปดาห์จบ ภาคประชาชนค้านทันควัน รัฐบาลเลือกแนวทางนี้วุ่นไม่เลิก ขู่ฟ้องอีกระลอกไล่ตรวจสอบ 500 โครงการที่ สผ.อนุมัติอีไอเอ เจอเข้าข่ายต้องทำตาม มาตรา 67 วรรคสอง เอาแน่ เล็งโรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก

วานนี้ (8 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ( สวล.) ว่า ที่ประชุมมีมติจัดทำร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีเครื่องมือในการประเมินผลกระทบจากโครงการของรัฐที่มากกว่าการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามมาตรา 46 วรรคสอง ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535โดยเป็นการใช้วิธีการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับเดิม หรือร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .. เพื่อเสนอครม.ในวันที่ 13 ต.ค.นี้ และเสนอสภาฯต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังมีมติว่าระหว่างที่ร่างแก้ไขพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ยังไม่ประกาศใช้ จะนำหลักการ ในมาตรา 46 วรรคสอง มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ไปปฏิบัติไปพลางก่อนสำหรับโครงการที่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสอง
“การแก้กฎหมายก็จะมี 1. มีการกำหนดกระบวนการถึงองค์กรที่จะไปชี้ว่าโครงการใดเข้าข่ายที่จะมีผลกระทบรุนแรง 2. กำหนดให้การจัดทำอีไอเอจะต้องมีการจัดทำผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน 3. ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และรับฟังความเห็นขององค์การอิสระก่อนที่จะมีการดำเนินการโครงการ โดยกฎหมายจะเสร็จช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับสภาจะส่งเข้าสภาให้ทันภายในเดือนต.ค.นี้”นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้กฎหมาย ก็จะไปออกประกาศตามมาตรา 46 วรรคสองของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนคิดว่าสามารถทดแทนกันได้ เพราะว่าจริงๆ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ก็ไม่ได้บังคับให้เป็นกฎหมาย เพียงแต่คิดว่าสำหรับระยะยาวควรที่จะมีกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประกาศต้องมีการยกร่าง เพราะร่างฯสำหรับหลักเกณฑ์ที่จะทำตามมาตรา 46 วรรคสองยังไม่ได้ทำ แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นก็ต้องเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศ โดยขั้นตอนของการยกร่างและนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ขอเวลาเอาไว้ 3 สัปดาห์
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี(นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ) เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ใหม่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะร่างขึ้น เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี คาดว่าเป็นร่างที่มีการยกไว้แล้ว ขณะที่ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ไปกำหนดใช้เงื่อนไขในมาตรา 46 วรรคสอง มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อปฏิบัติไปพลางก่อน คาดว่า 2-3 สัปดาห์จะสามารถยกร่างเพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้

***ทนายภาคประชาชนชี้วุ่นไม่จบแน่
นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 43 ราย ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้สั่งระงับการก่อสร้าง 76 โครงการในเขตจังหวัดระยองไว้ชั่วคราวและศาลฯมีคำสั่งตามคำขอ เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ข้างต้น ตนเองยังไม่เห็นรายละเอียด แต่เข้าใจว่า ร่างแก้ไขพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่กล่าวถึง เป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างมาก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 เดือนก่อน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยทุกประการ
ทั้งนี้ เพราะให้อำนาจ ทส.เบ็ดเสร็จในการกำหนดว่าองค์กรไหนที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งอาจมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อสวมเป็นองค์กรอิสระ ซ้ำ ทส. ยังมีอำนาจถอดถอนออกองค์กรอิสระได้ ดังนั้น ความจริงก็คือองค์กรอิสระไม่ได้เป็นอิสระที่แท้จริง ทส. เป็นผู้ชี้นำ กำกับ สั่งการได้
“หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ไม่จบแน่ ภาคประชาชนต้องคัดค้านเต็มที่” นายศรีสุวรรณ กล่าว และให้ข้อมูลว่า ความจริงแล้วหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ปี 50 ทส.มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมายลูก คือ ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ..... ซึ่งคณะทำงานได้ไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 4 ภูมิภาค รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้อง ร่างกฎหมายนี้เมื่อทำเสร็จแล้วก็ใส่มือให้กับทส. แต่ก็ถูกแช่แข็งไว้จนบัดนี้ แล้วทส.ก็หันไปหาแนวทางแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 35 เพื่อคงอำนาจของนักการเมืองและราชการไว้ตามเดิม
“ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่รัฐบาลจะผลักดัน เป็นการปิดห้องทำกันไม่กี่คนของกฤษฎีกา มุบมิบใช้อำนาจทางปกครองทำโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิ์มีเสียง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระฯ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน และเป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ ” นายศรีสุวรรณ กล่าว

***ไล่ตรวจ 500 โครงการเข้าข่าย

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯ กำลังตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ หลังจากรัฐธรรมนูญฯ 2550 บังคับใช้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 กว่าโครงการว่า มีโครงการไหนที่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง หรือไม่ หากมีโครงการไหนที่เข้าข่าย ก็เตรียมจะฟ้องร้องเป็นลำดับต่อไป
“สิ่งที่อยากจะบอกกับรัฐบาลคือ 76 โครงการที่ระยอง เป็นแค่นำร่อง หากรัฐบาลยังโยกโย้ไม่รีบดำเนินการจัดตั้งองค์กรอิสระ ออกกฎหมายลูกมารองรับกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ให้ครบถ้วน และเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็จะมีปัญหา มีการฟ้องร้องตามมาไม่สิ้นสุด”
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า โครงการที่เป็นเป้าหมายที่จะเข้าไปตรวจสอบ จะเป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก โรงงานปิโตรเคมี ที่อยู่นอกเขตจังหวัดระยอง เป็นต้น
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ผ่านการประมูลไอพีพีรอบสอง และได้รับอนุมัติอีไอเอเพื่อนำไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง มีอยู่ 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ ของบริษัท สยามเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ส่วนโรงถลุงเหล็ก เป็นโครงการของเครือสหวิริยาที่จ.ประจวบคีรีขันธ์

***ยื่นคัดค้านอุทธรณ์จันทร์นี้

นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวว่า ในวันจันทร์นี้ (12 ต.ค.) จะยื่นคำคัดค้านการอุทธรณ์ของอธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครอง ซึ่งรับมอบอำนาจจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง โดยไม่รอให้ศาลฯส่งคำอุทธรณ์มาให้เสียก่อน เพราะการยื่นคัดค้านสามารถทำได้เลย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เหตุที่รีบยื่นคำคัดค้านการอุทธรณ์เพราะเวลานี้มีกระบวนการที่พยายามเร่งรัดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เร่งพิจารณาคดีนี้โดยเร็ว
ส่วนข้อมูลพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด จะเป็นข้อมูลเรื่องผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งผู้ตายเป็นญาติกับผู้ฟ้องคดี เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนอยู่ในขั้นรุนแรง เป็นการสมควรแก่เหตุที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการไว้ชั่วคราวและให้มาดำเนินกระบวนการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสุขภาพและชีวิตของประชาชน
นอกจากนั้น ยังจะยื่นรายงานผลการวิจัยต่างๆ ของภาครัฐ และจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ด้วย

***กลุ่ม 40 สว.กระทุ้งออกกม.ลูก

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา นายสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งออกกฎหมายลูกมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ต่อการตัดสินใจและคัดค้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายสุรชัย กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลยื่นอุทธรณ์กรณที่ศาลปกครองระงับใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม 76 แห่ง โดยอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายลูกบังคับใช้ แต่กรรมาธิการมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2550 ดังนั้นการที่รัฐบาลจะไปยื่นอุทธรณ์จึงไม่สมควร เพราะประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ รัฐบาลควรใส่ใจการออกกฎหมายลูกเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งทางกรรมาธิการไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ขึ้นในสังคม ระหว่างนักลงทุนกับประชาชน ซึ่งทางที่ดีรัฐบาลควรนำผู้ที่ร้องทุกข์กับหน่วยงานต่างๆ มาเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน นอกจากนี้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโรงงาน 1 แสนล้านบาท เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

***นายกฯขอรอผลอุทธรณ์ก่อน
นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ ถ้าเกิดการฟ้องร้องภายหลังในกรณีศาลปกครอง มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อน การพิพากษาคดีให้ระงับ 76 โครงการ เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดว่า การหารือเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีข้อเสนอเรื่อง กองทุนดังกล่าวเข้ามาในเอกสาร แต่ตอนที่พูดคุยกั ขณะนี้มองว่า 1.เรื่องของคดี ได้มีการอุทธรณ์ไป 2.ระหว่างที่คดียังไม่มีข้อยุติ จะเร่งทำกระบวนการคู่ขนานเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ซึ่งตนได้เร่งรัดมาตลอด ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ต.ค.นี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยในวันนี้ (8 ต.ค.) ตน ได้เรียกประชุมเพื่อสรุปให้ชัดเจนในการ เร่งรัดเรื่องนี้ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบลงไป เพียงแต่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับทุกฝ่ยในตอนนี้ว่าผลกระทบอาจเป็นเรื่องของความล่าช้า แต่ในหลักการไม่ได้มีปัญหา โดยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ไม่ใช่กระบวนการที่เปลี่ยนแปลง ไปมากจากกระบวนการที่ต้องทำอยู่แล้วคือ จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการรองรับการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ความเสียหายจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องดูผลจากการ พิจารณาการอุทธรณ์ ตัวคดี และการเร่งรัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ส่วน อะไรที่เป็น อุปสรรค รัฐบาลต้องแก้ไขโดยการพิสูจน์ให้ชัดเจน เช่น เรื่องความเสียหาย สมมติถ้าปัญหาโรงแยกก๊าซมันช้า ก็มีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอนจากการที่เรา ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีนานขึ้น เพราะหวังว่าโรงแยกก๊าซจะเป็นตัวที่หยุดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นก็ต้องพิสูจน์กันไป
ส่วนรัฐบาลจะช่วยเหลือชุมชนในบริเวณนั้นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้การที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศเขตควบคุมมลพิษก็มีกระบวนการเดินงานในเรื่องนี้อยู่ และที่จริงโครงการการลงทุนบางโครงการ ตนพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเป็นโครงการลงทุนที่จะเป็นผลในการลดมลพิษ ไม่ใช่เป็นการเพิ่ม เพราะต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวปล่อยสารพิษออกมา จึงอยากให้โครงการแบบนี้เดินต่อ ทั้งนี้ เราไม่มีปัญหา โดยโครงการใดที่จะซ้ำเติมเรื่องมลพิษก็ต้องมีมาตรการรองรับแก้ไขก่อน แต่จะเหมาว่าทุกโครงการจะเป็นลักษณะนั้นคงไม่ถูกต้อง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคดีนั้นได้อุทธรณ์ไปแล้วเบื้องต้นว่าอยากให้โครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วสามารถเดินต่อไปได้ในระหว่างนี้ และจะนำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ต้องระงับโครงการทั้งหมดและคงไม่เหมาะสมที่จะออกใบอนุญาตเพิ่ม ส่วนการทำความเข้าใจกับภาคเอกชนโดยเฉพาะต่างประเทศ จะดำเนินการต่อไปผ่านกลไกต่างๆ ขณะที่ในส่วนของประชาชน ที่จริงตนเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าพบ และพยายามทำความเข้าใจกันอยู่
เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่มีการยื่นขอทุเลาการบังคับคดีควบคู่กับการยื่นอุทธรณ์ นายกฯ กล่าวว่า ได้ดำเนินการไปตามช่องทางที่มี แต่วันนี้ตนจะซักซ้อมและสอบถามกับทางอัยการอีกครั้ง

*** ยันนายกฯรับหลักการตั้งกองทุน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าของวานนี้ (8 ต.ค.) โดยกล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ เนื่องจากคำสั่งระงับโครงการจำนวน 100,000 ล้านบาท ว่า นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอของ กกร. ไว้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน
สำหรับกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเฉพาะ 76 โครงการ ที่ถูกศาลปกครองกลางสั่งระงับขณะนี้ โดยการใช้เงินของกองทุนจะนำมาช่วยเหลือ โครงการที่อาจเดือดร้อนจากคำสั่งของศาล คือ ปัจจุบันทั้ง 76 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันประมาณ 400,000 ล้านบาท คำสั่งของศาลทำให้เกิด ความไม่แน่ใจว่าหากต้องชะลอโครงการออกไปจะมีความเสียหายมากน้อยเพียงใด การเสนอตั้งกองทุน 100,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันนำเงินมาช่วยเหลือ กรณีการก่อสร้างโครงการที่ทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว หากต้องหยุดจาก คำสั่งศาลก็อาจจะถูกผู้รับเหมาฟ้องร้อง เนื่องจากผู้รับเหมาเตรียมงานไว้พร้อมแล้ว
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อก็อาจระงับวงเงินก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ขณะนี้ธนาคารต่าง ๆ อยู่ระหว่างพิจารณาและติดตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด หากต้องหยุดการลงทุนหรือชะลอผู้ประกอบการก็จะมีปัญหาว่าจะเอาเงินจากไหนไปให้เจ้าหนี้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายระดมเงินทุนด้วยการออกตราสารหนี้ หากโครงการต้องสะดุดจะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนที่ถือตราสารจนบางรายอาจตัดสินใจขายทิ้ง ซึ่งกรณีนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้รัฐบาลซื้อตราสารหนี้
นายสันติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มีโครงการลงทุนในมาบตาพุด 76 โครงการ ไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย จึงขอความเห็นใจจากทุกฝ่าย ซึ่งกองทุนดังกล่าวอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้หรือใช้น้อยกว่าก็ได้ คงต้องรอคำตัดสินของศาลว่าจะกระทบโครงการลงทุนหรือไม่ มีความเสียหายตามมาภายหลังหรือไม่และต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนนี้เพียงใด
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงการออกกฎหมายลูกมาตรา 67 วรรค 2 ว่า เวลา 16.00 น.วันนี้ (8 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจะหารืออัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพว่าจะเป็นรูปแบบใด ส่วนการจัดทำประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (เอชไอเอ) มี 2 แนวคิด คือ เป็นไปหรือไม่ ที่จะนำเอชไอเอ รวมไว้ในผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะจะสะดวกต่อการยื่นเรื่องของภาคเอกชน ขณะที่บางกระแสเห็นว่าควรแยกหน่วยงานที่ทำการประเกินด้านสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐจะต้องหาความเหมาะสมว่าแนวทางใดจะเป็นผลดี ที่สำคัญควรให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

*** “เพื่อไทย” ได้ทีอัดรัฐบาล
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการระงับ 76 โครงการที่มาบตาพุด ว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐบาลหย่อนยานในกระบวนการของรัฐไม่กำกับให้ดูแลอย่างรอบคอบ ปล่อยปละละเลยจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ
ด้านนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลย ส่วนที่บอกว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เพราะยังไม่มีโครงการใดได้รับการอนุมัติและไม่มีหน่วยงานใดที่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง
ส่วนที่บอกว่าไม่มีการร้องปัญหามลพิษที่มาบตาพุดในรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่เป็นความจริง เพราะมีชาวบ้านที่ไดรับผลกระทบไปร้องที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และตอนที่ตนเข้ามาศาลก็ได้ตัดสินเรื่องนี้
ส่วนที่ถามว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากรัฐบาลชุดก่อนหรือชุดนี้ รัฐบาลอยากปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง แต่ไม่มีใครชี้ว่าเกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ใครหรือหน่วยงานใดๆ ขึ้นมาพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามก็มีการเถียงว่าใครจะประกาศจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุขหรือกรมโรงงาน จึงถกเถียงต้องตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ.ขึ้นหรือไม่
นายสุรพงษ์ ถามว่า ตนอยากให้แก้ไขมาตรา 67 ให้ชัดเจนรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อให้รัฐบาลทำงานง่าย ทำงานให้เป็น ตนเป็นห่วงว่าผลกระทบจากการระงับ 76 โครงการจะไม่ได้จบแค่นี้ นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยก็จะไปลงทุนที่อื่นแล้วรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเชื่อถืออย่างไร และหากนักลงทุนขาดความเชื่อถือรัฐบาลจะกู้เงินอีกกี่หมื่นกี่แสน
นายกฯชี้แจงว่า สิ่งที่รัฐบาลตั้งไว้คือแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ และเมื่อกฎหมายเข้ามาขอให้ฝ่ายค้านร่วมมือด้วย อย่ายื่นตีความ ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนก็ทำอยู่ โดยรวมต่างชาติเข้าใจเพราะเคารพกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตามในเรื่องหากศาลพิจารณาตัดสินให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆไม่ใช่การลงทุนเกิดขึ้นไมได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอน และขยายเพิ่มเติมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยอมรับเรื่องนี้ทำให้เกิดความสะดุดและมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลตจะเดินหน้าเต็มที่ในเรื่องนี้และขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านด้วย และดีใจที่เห็นฝ่ายค้านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ประชาชน เพราะดีกว่าแก้ไขเพื่อคนคนเดียวหรือกลุ่มคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น