xs
xsm
sm
md
lg

การเริ่มต้นลงทุนในหลักทรัพย์ (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

ผู้เขียนได้กล่าวถึงทิศทางและนโยบายในการจัดการลงทุนในคอลัมน์นี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้เขียนไปนั้นเป็นแนวทางหรือทิศทางการลงทุนในตราสารทางการเงินที่ค่อนข้างต้องมีความเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก อาทิ การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การซื้อขาย SET50 Index Futures, SET50 Index Options, Stock Futures หรือ Gold Futures เป็นต้น แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีการลงทุนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีความเข้าใจในวิธีการลงทุนในหลักการเบื้องต้นอยู่บ้าง จึงจะมีความเข้าใจในเนื้อหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

หากท่านผู้อ่านเป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือมีความต้องการที่จะเริ่มลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ผู้อ่านจำเป็นที่จะต้องมีความรู้พื้นฐาน และทำความเข้าใจกับหลักการเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าสู่การลงทุนจริง ๆ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะต้องได้รับการอบรมจากทางTSI (www.tsi-thailand.org) ซึ่งจะมีการจัดการอบรมเพิ่มพูนให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนในทุกระดับ เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจถึงวิธีการในการลงทุน และเทคนิคต่าง ๆ ในการตัดสินใจในการลงทุน

ในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างถึงแนวทางในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์เป็นการเบื้องต้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้แกท่านผู้อ่าน ที่อาจพัฒนาไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพในอนาคต

การลงทุน คือ การที่เราจ่ายเงินสดจำนวนหนึ่งไปในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนจากการจ่ายเงินสดนั้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนโดยทั่วไปจะคาดหวังว่าในอนาคตจะได้รับเงินสดจำนวนที่จ่ายไปนั้นคืน บวกกับเงินสดส่วนที่เพิ่ม หรืออาจเรียกได้ว่า “ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม” โดยที่ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับนั้น จะสามารถชดเชยระยะเวลาที่เสียไป อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุก ๆ การลงทุนได้อย่างคุ้มค่า
หรืออาจกล่าวได้ว่า การลงทุน หมายถึง การออมในปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น การที่ผู้ลงทุนตัดสินใจนำเงินออมมาลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตลาดการเงิน (Financial Markets) ในปัจจุบัน มีทางเลือกสำหรับการลงทุนให้เลือกลงทุนได้หลากหลายวิธี ทั้งสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นทุนกองทุนรวม ฯลฯ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น ทองคำ ที่ดิน อาคาร เพชร พลอย เครื่องประดับ ฯลฯ ดังนั้นการที่ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุนจึงมีความสำคัญมาก การลงทุนโดยไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจในเรื่องความเสี่ยงและทางเลือกในการลงทุนดีพอ จะทำให้การลงทุนนั้นที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด

การที่ผู้ลงทุนเริ่มแรก เข้าใจการลงทุน และลงทุนได้อย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสที่ดีในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว การลงทุนที่มีการกระจายการลงทุนเป็นอย่างดี จะช่วยผู้ลงทุนให้ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนได้ เพราะการที่ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง หรือการลงทุนในหลาย ๆ หุ้นพร้อมกัน ก็เปรียบได้เหมือนการที่เราขนย้ายไข่ไก่ ถ้าเรานำไข่ไก่ใส่ไว้ในลัง ๆ เดียวใหญ่ ๆ หากลังนั้นเกิดตกระหว่างการขนย้าย ก็จะทำให้ไข่ไก่ทั้งหมดเกิดความเสียหาย แต่ถ้าเรานำไข่ไก่ใส่กล่องเล็ก ๆ หลาย ๆ กล่อง เมื่อมีการขนย้าย หากกล่องใดกล่องหนึ่งเกิดตก เราก็จะสูญเสียไข่ไก่เพียงจำนวนน้อย ดังนั้นการกระจายการลงทุน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น

เงินลงทุนที่ผุ้ลงทุนนำมาลงทุนในหุ้นสามัญ หรือหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เพราะเงินจำนวนนี้จะถูกหมุนเวียนไปยังผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน โดยผ่านสื่กลางทางการเงินหลากหลายรูปแบบในระบบการเงิน ทั้งในรูปแบบของเงินให้กู้ หรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ธุรกิจที่ต้องการเงินทุน อาจนำเงินทุนนั้นไปใช้ในการเริ่มธุรกิจ การสร้างโรงงาน การซื้อเครื่องจักร การจ้างแรงงาน การซื้อวัตถุดิบ การขยายการผลิต รวมทั้งการลงทุนในโครงการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการผลิตและการลงทุนเหล่านี้ จะก่อทำให้เกิดการจ้างแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจภาคส่วนอื่น ๆ ดังนั้นหากการลงทุนมีจำนวนมาก ก็จะเป็นการสะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศที่สำคัญอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น