xs
xsm
sm
md
lg

108-1009 เรื่องเล่าอนุพันธ์:ลงทุนทอง ต้องมองหาปัจจัยชี้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจัยชี้นำที่ว่านั้น สำหรับนักลงทุนหลายท่าน อาจจะมองไปที่สัญญาณทางเทคนิค เพื่อหาแนวโน้มหรือกำหนด จุดซื้อขายทองคำ หรือ Gold Futures รวมถึงใช้ดูทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นๆ ค่าเงิน และดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาทองคำ แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรติดตามอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดเช่นเดียวกัน เรามาลองดูปัจจัยแต่ละตัวว่ามีผลต่อราคาทองคำอย่างไรบ้าง

1.อุปสงค์ของทองคำ ซึ่งมีทั้งส่วนที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรม และ Jewelry อีกส่วนหนึ่งเป็นอุปสงค์การลงทุนโดยความต้องการทองคำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และการผลิตเครื่องประดับ ที่ผ่านมามักขึ้นกับฤดูกาล และความมั่งคั่งของผู้บริโภคตามแต่ภาวะเศรษฐกิจโลก พบว่าความต้องการทองคำในไตรมาส 1 และ4 จากเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ และเทศกาลแต่งงานของอินเดีย กระตุ้นอุปสงค์ให้พุ่งขึ้น แต่ในสภาพเศรษฐกิจที่คาดว่ากำลังฟื้นตัว ดังเช่นไตรมาส 4 ของปี 2009 จนถึงปี2010 การบริโภคทองคำโดยรวมอาจยังชะลอตัว เช่นเดียวกับปีก่อนที่อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

อุปสงค์จากการลงทุน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของทองแท่ง เหรียญทอง หรือทองรูปพรรณ เพื่อการเก็งกำไรทิศทาง หรือใช้ประกันความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนักลงทุนรายย่อย สถาบันการเงิน และกองทุนต่างๆ เป็นผู้มีบทบาทต่ออุปสงค์ในส่วนนี้ แต่ที่สังเกตพบได้บ่อยตามข่าวหรือบทวิเคราะห์เกี่ยวกับทองคำ คงเป็นปริมาณการถือครองทองคำของกองทุนรายใหญ่อย่าง SPDR Gold Trust ที่เมื่อมีการปรับเพิ่มการถือทองคำ จะเห็นราคาทองคำพุ่งขึ้นในเวลาเดียวกัน

2.อุปทานของทองคำ นักลงทุนควรติดตามข้อมูลการส่งออกทองคำจากประเทศผู้ผลิต รวมถึงการลงทุนในเหมืองทองแห่งใหม่ โดยในอดีต แอฟริกาใต้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ1 ของโลก แต่มาในปี2009 เริ่มเห็นแนวโน้ม อุปทานมาจาก จีน อินโดนิเซีย และ รัสเซีย เพิ่มขึ้น ปริมาณ Scarp หรือทองคำที่อยู่ในรูปเครื่องประดับหรือชิ้นส่วนในอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาหลอมใหม่ ขณะที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจะเห็นปริมาณ scrap ในตลาดสูงขึ้นด้วย

ทองคำที่ถูกขายออกมาจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ภายใต้ข้อตกลง CBGA ที่ครอบคลุมไปจนถึงปี 2013โดยกำหนดให้แต่ละปีปริมาณทองคำที่ถูกขายออกมารวมกันต้องไม่เกิน400 ตัน คิดเป็น 2,000 ตัน ตามข้อตกลง 5 ปี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่นอกเหนือข้อตกลง และแผนการขายทองคำจากองค์กรหรือกลุ่มต่างๆ เช่น แผนการขายทองคำของ IMF จำนวน 403 ตัน ที่ได้รับความสนใจจากจีนที่จะเข้าลงทุนในทองคำ ซึ่งความคืบหน้าส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในระยะสั้น และระยะยาวได้ ขณะที่ Lease rate ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ธนาคารกลางจะได้รับจากการให้เช่ายืมทอง เมื่ออัตราสูงขึ้นสะท้อนปริมาณทองคำที่ปล่อยออกมาในตลาดมีน้อย ผลักดันให้ราคาพุ่งขึ้นในช่วงนั้นๆ ได้

3. ราคาทองคำมักเคลื่อนไหวไปด้วยกันกับทิศทางของราคาโลหะอื่นๆ เช่น เงิน ทองแดง แพลทตินัม และพาลาเดียม แต่อัตราการแกว่งตัวอาจต่างกันขึ้นกับความต้องการโลหะแต่ละตัวในช่วงนั้นๆ ขณะที่ราคาน้ำมันโลกก็มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในเชิงบวกกับราคาทองคำ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นแรงผลักดันต่อราคาทองคำให้พุ่งขึ้นตามบนความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ

4.ขณะที่นักลงทุนควรติดตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและประเทศต่างๆ จากตัวเลขเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน ทิศทางดอกเบี้ย รวมถึงปัจจัยทางการเมือง และกฎระเบียบต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จะเห็นราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการ Safe haven หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ส่วนการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เช่น แนวโน้มการออกกฎควบคุมการเก็งกำไรสัญญาน้ำมันล่วงหน้า อาจจะทำให้เห็นเม็ดเงินไหลมายังทองคำได้

5. ดอลลาร์สหรัฐ มักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาทองคำ เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจะเห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ไหลออกจากตลาดเงินมายังตลาดทองคำ และราคาทองคำในรูปของดอลลาร์สหรัฐถูกลงจึงดึงดูดการให้มีการลงทุนมากขึ้นจากผู้ที่ถือสกุลเงินที่แข็งค่ากว่า

6. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่มี ความสัมพันธ์เชิงบวกกับราคาทองคำในตลาดโลก (เงินบาทแข็ง ราคาทองคำโลกขึ้น ) อย่างไรก็ตามอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากยังต้องคำนึงถึงอุปสงค์อุปทานของเงินบาทในเวลานั้น และนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการแทรกแซงค่าเงินอยู่เป็นระยะ อีกทั้งการคำนวณราคาทองคำในประเทศ ที่มีการแปลงค่ามาจากราคาทองคำในตลาดโลก จะมีอัตราแลกเปลี่ยน( บาท/ ดอลลาร์ ) เป็นตัวคูณ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท ( ดอลลาร์อ่อนค่า) จะไปลดทอนอิทธิพลเชิงบวกจากราคาทองคำในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นไปในตัวโดยในอีกแง่หนึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลบวกต่อการนำเข้าทองคำ ในทางกลับกันจะเป็นรงกดดันต่อราคาทองคำในบ้านเรา และ Gold Futures นั่นเอง

สุดท้ายนี้หวังว่าปัจจัย ที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งอธิบายการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะช่วยในการมองแนวโน้มของราคาทองคำ และการวางแผนลงทุนของทุกท่าน โดยนักลงทุนสามารถติดตามข่าวสารและปัจจัยต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ทองคำของไทยและต่างประเทศ หรือบทวิเคราะห์ของ บมจ. หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย)ใน Derivatives Insight ที่นอกจาก Gold Futures ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในส่วนของ SET50 Index Futures & Options รวมถึง SSF ที่นักลงทุนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ทุกวันผ่านทาง www.poems.in.th
กำลังโหลดความคิดเห็น