xs
xsm
sm
md
lg

นิยามของความเสี่ยง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


ความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure Risk) คือ ความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดความเสียหาย ถ้าเกิดเหตุการณ์หรือภัยขึ้น หรืออาจกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า “ถ้าไม่มีภัย ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น” เช่น บริษัทซื้อรถยนต์มาใช้ในการประกอบธุรกิจ ทันทีที่บริษัทได้ซื้อรถยนต์มา บริษัทก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้นทันที เพราะเมื่อพนักงานขับรถยนต์ของบริษัทขับรถยนต์ออกไปปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่เกิดอุบัติเหตุใด ๆ และไม่มีผู้ขับขี่รายอื่นมาทำให้รถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุแล้ว รถยนต์นั้นก็จะอยู่ในสภาพเดิม แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ จนเกิดความเสียหาย บริษัทจะต้องมีภาระในการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าว และรถยนต์คู่กรณี เมื่อพนักงานฝ่ายของตนเองนั้นเป็นผู้ผิด

หากบริษัทดังกล่าวทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เอาไว้ บริษัทประกันก็จะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุนั้น ๆ ตามจริง แต่ไม่เกินกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น คือ บริษัทจะไม่ได้รับกำไรจากการทำประกันภัยรถยนต์แต่อย่างไร ความเสี่ยงประเภทนี้จึงเรียกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง หรือ Pure Risk คือบริษัทที่ทำการป้องกันความเสี่ยงนั้น จะมีแต่เท่าทุนและขาดทุนเท่านั้น คือ บริษัทจะไม่ได้และไม่เสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่บริษัทจะมีรายจ่ายเพื่อการป้องกันความเสี่ยงนั้นด้วย

ความเสี่ยงภัยที่แท้จริงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ความเสี่ยงที่เกิดแก่บุคคล (Personal Risk) ซึ่งความเสี่ยงนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บุคคลอาจเกิดความสูญเสียในรายได้หรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสูญเสียความสามารถในการหารายได้ และความเสี่ยงที่เกิดต่อทรัพย์สิน (Property Risk) คือ ความเสี่ยงที่บุคคลหรือบริษัท เจ้าของทรัพย์สินจะต้องได้รับ เช่น การถูกขโมยทรัพย์สิน หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นต้น

ความเสี่ยงที่มุ่งเก็งกำไร (Speculative Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วมีโอกาส กำไร เท่าทุน หรือขาดทุน ซึ่งความเสี่ยงนี้เราสามารถจะพบได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การซื้อหวยบนดิน การเล่นการพนัน ฯลฯ หรือในทางธุรกิจ ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจลงทุนประกอบธุรกิจ ธุรกิจก็จะประสบกับการที่ขาดทุน เท่าทุน หรือ กำไรเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงที่มุ่งเก็งกำไร สามารถแบ่งเป็นกรณีย่อย ๆ ได้ดังนี้ คือ ความเสี่ยงในการจัดการ (Management Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้บริหารของธุรกิจ หากผุ้บริหารตัดสินใจถูกต้อง ธุรกิจจะได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ หรือมากกว่านั้น หากผู้บริหารตัดสินใจผิดพลาด ธุรกิจก็จะเกิดความสูญเสียเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Risk) เป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจได้รับจากอิทธิพลหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งประเภทของธุรกิจนั้นอาจได้รับการส่งเสริมผ่านนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลง หรือในทางกลับกันธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการไม่สนับสนุนหรือขัดขวางจากนโยบายของรัฐได้เช่นกัน ความเสี่ยงในด้านนี้รวมไปถึงความเสี่ยงอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไว้ด้วย หากกฎหมายที่ออกสนับสนุนธุรกิจที่กระทำอยู่ ก็จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ประมาณการไว้ และหากกฎหมายไม่สนับสนุนธุรกิจที่ประกอบการอยู่ ผลตอบแทนก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงจากการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ (Innovative Risk) เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตคิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น อาจมีความเสี่ยงคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด จะทำให้การลงทุนของบริษัทในการผลิตเกิดความเสี่ยงหายเป็นอย่างมาก

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญในด้านการบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ธุรกิจจะลงทุนในสิ่งใดแล้ว ผลที่ธุรกิจต้องการก็คือผลตอบแทนสูงสุด หรือมีกำไรสูงสุด แต่การที่ธุรกิจจะมีกำไรสูงสุดหรือมีผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้นยังคงไม่พอในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคปัจจุบัน การบริหารธุรกิจในปัจจุบันจะเน้นที่ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ เพราะการที่บริษัทมีกำไรที่มากหรือผลตอบแทนสูง ไม่ได้แสดงถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้รับผระโยชน์สูงสุดด้วย แต่หากมองในมุมที่กลับกัน ถ้าผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งดี แสดงว่าธุรกิจนั้นมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

ความเสี่ยงของธุรกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่บริษัทคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่นบริษัทคาดว่าในปีนี้จะทำกำไรได้สูงกว่าปีอื่น ๆ แต่ผลการดำเนินการออกมาไม่เป็นไปดังที่คาดเอาไว้ แสดงว่าการคาดการณ์ของบริษัทนั้นมีความเสี่ยง สาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้กำไรตามที่คาดการณ์ไว้นั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางการตลาด ราคาวัตถุดิบ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้การค้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป

ดังนั้นหากธุรกิจใดสามารถประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็จะสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทสามารถประเมินค่าความเสี่ยงได้แล้วนั้น บริษัทก็จะสามารถที่พยายามปรับลดค่าความเสี่ยงให้เข้าสู่ค่าความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้ โดยการปรับค่าความเสี่ยงนั้น อาจทำได้โดยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น ลดการสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสีย เมื่อบริษัทเกิดอัคคีภัย หรือราคาสินค้าดังกล่าวนั้นมีราคาที่ลดลงในอนาคต หรือในทางกลับกัน บริษัทอาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้บริษัทสามารถปกป้องไม่ให้เกิดค่าเสี่ยงขึ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า การซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น