xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารความเสี่ยงเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

การบริหารความเสี่ยงเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ
(Enterprise Risk Management: ERM) ตอน 1

การบริหารความเสี่ยง เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ในการซื้อขายเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงที่ผู้เขียนอธิบายในหลายตอนที่ผ่านมานั้นเป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นสำคัญ แต่ในบริษัทต่าง ๆ นั้นการบริหารความเสี่ยงไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินเท่านั้น

ในบริษัทต่าง ๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางธุรกิจ ความเสี่ยงทางการตลาด ความเสี่ยงในการดำเนินงาน ฯลฯ ซึ่งวิธีการในการประเมินความเสี่ยงและแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้อาจแตกต่างกันออกไป

ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างไปจากการบริหารความเสี่ยงในอดีต การบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เป็นการบริหารเฉพาะด้านของธุรกิจอีกต่อไป แต่การบริหารความเสี่ยงในปัจจุบันจะต้องเป็นการบูรณาการความเสี่ยงทุกด้านเข้าด้วยกัน โดยการบริหารความเสี่ยงภายใต้แนวคิดของ Value-Based Enterprise Risk Management นั้นจะต้องเป็นการบริหารความเสี่ยง เพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนของกิจการ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการไปด้วยอย่างพร้อมกัน

ในอดีตเรามักจะมองวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจว่า เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจเป็นการทำกำไรสูงสุดให้แก่บริษัท (Profit Maximization) แต่ต่อมาเมื่อแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป วัตถุประสงค์ของบริษัทจึงกลายเป็น การสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น (Wealth Maximization) แต่ในปัจจุบันการมองเพียงความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะการที่ผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งในปัจจุบันสูง ไม่ได้เป็นการแสดงว่าในอนาคตจะมีความมั่งคั่งสูงเช่นเดียวกัน

ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทในปัจจุบันจึงเป็น การสร้างมูลค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการให้มีค่าสูงที่สุด (Stakeholders Value Creation Maximization) โดยดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) อย่างต่อเนื่องตลอดไป

เพราะผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของบริษัทในปัจจุบันนั้นไม่ใช่มีแค่เพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในธุรกิจนั้นประกอบได้ด้วย เจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) เจ้าหนี้ ลูกค้า ประชาชนทั่วไป และพนักงานของบริษัท ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียนั้น จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความพึงพอใจสูงสุด มูลค่าเพิ่มของบริษัทจึงสูงสุด

การบริการความเสี่ยงจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ ด้วยการบริหารความเสี่ยงนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ถึงแม้จะมีบางธูรกิจได้นำเอาการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ ก็ยังคงเป็นการบริหารความเสี่ยงเฉพาะด้านเท่านั้น การบริหารความเสี่ยงแบบเดิมนั้นเป็นการมองถึงความเสี่ยงเฉพาะด้าน ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ของความเสี่ยงเข้าด้วยกัน จึงทำให้การประเมินถึงค่าต่าง ๆ ของความเสี่ยงนั้นมีค่าที่ไม่ถูกต้อง

และสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของไทยในปัจจุบัน เน้นเฉพาะการป้องกันความเสียหายมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ จึงเรียกได้ว่า การบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่นั้น ไม่ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการเป็นสำคัญ

โดยทั่วไป ความเสี่ยงของธุรกิจ (Business Risk) อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ เกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจ หรือเกิดจากกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งสาเหตุหรือแหล่งที่มาของความเสี่ยงเหล่านี้มีบางอย่างที่เราอาจไม่สามารถที่จะบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นให้หมดไปได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการบริหารความเสี่ยงที่ดี

ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจ (Business Environment Risks) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จากหลายด้าน เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง อัตราแลกเปลี่ยนเกิดการผันผวน อัตราดอกเบี้ยมีความไม่แน่นอน คู่แข่งขันปรับเปลี่ยนนโยบายการตลาด ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเกิดปัญหา แหล่งเงินทุนในการดำเนินงานไม่สามารถจัดหาได้ อิทธิพลจากนโยบายสาธารณะหรือรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในอนาคต ฯลฯ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกของบริษัท

ความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงาน (Business Process Risks) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น กระบวนการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ คุณภาพของสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน ระบบการจัดส่งสินค้าบกพร่อง ความปลอดภัยของระบบข้อมูลต่ำ ไม่มีแผนหลักในการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสดของบริษัทขาดมือ ระบบรายงานการเงินขัดข้อง ต้นทุนในการพัฒนาบุคลากรสูง บุคลากรย้ายงานบ่อย มีการฉ้อโกงภายในบริษัท ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในของบริษัท

เมื่อธุรกิจทราบถึงความเสี่ยงแต่ละชนิดแล้วนั้น การบริหารจัดการกับความเสี่ยงจะต้องไม่ทำแบบ Silo View คือ จะไม่บริหารจัดการความเสี่ยงแต่ละชนิดแยกออกจากกัน เพราะการที่แยกการบริหารความเสี่ยงออกเป็นหน่วยย่อย ๆ นั้น จะทำให้การขจัดความเสี่ยงออกจากบริษัทไม่สมบูรณ์ การบริหารความเสี่ยงของบริษัทในยุคสมัยใหม่ต้องทำแบบ Portfolio View คือ จะต้องบริหารความเสี่ยงทั้งระบบไปพร้อม ๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น