xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


การบริหารความเสี่ยงเบื้องต้น กรณีของการเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งกำลังจะพิจารณาถึงยอดขายในวันสิ้นเดือน ที่จะเกิดการผันแปรไปตามสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ธุรกิจร้านอาหารได้ประมาณการผลตอบแทนในรูปของกำไรเป็นเงิน 50,000 บาท ในกรณีวันเงินเดือนออกและสถานะการณ์ปกติ และคาดว่าถ้าวันดังกล่าวเกิดฝนตก จะมีกำไรเป็นจำนวนเงินเพียง 10,000 บาท เนื่องจากธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมากในแต่ละวัน หากวันที่จะพิจารณานั้นมีโอกาสฝนตกร้อยละ 60 แสดงว่าโอกาสที่ฝนจะไม่ตกนั้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของโอกาสที่เป็นไปได้ทั้งหมด

ค่าผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Rates of Return) ของการดำเนินธุรกิจในวันดังกล่าวว่า จะมีผลตอบแทนที่คาดหวังไว้เท่ากับ 26,000 บาท และมีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เท่ากับ 19,595.91 บาท ซึ่งทำให้รายได้หรือผลตอบแทนของร้านอาหารอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตั้งแต่ 6,404.09 บาท ไปจนถึง 45,595.91 บาท (กรณีของการเพิ่มและลดลงด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1 ครั้ง)

จากกรณีการประกอบธุรกิจร้านอาหารทำให้พบว่า หากธุรกิจมีค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงมาก ความเสี่ยงของธุรกิจก็จะสูงมากขึ้นเช่นกัน เพราะผลตอบแทนที่คาดหวังไว้จะเกิดความผันผวนมากขึ้นกว่าธุรกิจที่มีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ

ดังนั้นการที่ธุรกิจจะดำเนินการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้นั้น จะทำได้โดยการพิจารณาถึงต้นทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และรายได้ที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีความสอดคล้องกันเพียงใด การลดความเสี่ยงสำหรับธุรกิจอย่างง่ายที่สุด คือ การลดค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรลง เพื่อทำให้ จุดคุ้มทุนของธุรกิจจะต่ำลง จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสูงขึ้น

หากธุรกิจทำการลดต้นทุนทั้งคงที่และผันแปรลง เพื่อทำให้ค่าความเสี่ยงของธุรกิจลดลง เช่น หากธุรกิจร้านอาหารกำลังทำการประเมินผลตอบแทนของวันศุกร์สิ้นเดือน วันเงินเดือนออกเช่นเดียวกับที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่แรกนั้นจะพบว่า หากธุรกิจขายได้ปกติจะมีผลตอบแทน 50,000 บาท แต่ถ้าหากฝนตกจะได้รับผลตอบแทนเพียง 10,000 บาท ทำให้การประมาณการผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นได้รับเพียงแค่ 26,000 บาท และมีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19,595.91 บาท

ดังนั้นการลดความเสี่ยงดังกล่าวนั้น อาจทำได้อย่างง่ายคือ การลดต้นทุนลง เพราะการที่กิจการมีต้นทุนสูงนั้น ทำให้เกิดผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อธุรกิจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันเกิดขึ้น หากเราสามารถลดต้นทุนคงที่ หรือต้นทุนผันแปรลงได้ ความไม่แน่นอนของธุรกิจนั้นก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจนั้นต่ำลงด้วยเช่นกัน

หากร้านอาหารสามารถลดต้นทุนลงได้ คือ หากในวันดังกล่าวช่วงเช้า เจ้าของธุรกิจทราบว่าได้มีการประมาณการฝนตกไว้สำหรับวันนี้คือ โอกาสที่ฝนจะตกคิดเป็นร้อยละ 60 และฝนไม่ตกคิดเป็นร้อยละ 40 และเจ้าของธุรกิจไม่ต้องการให้ความเสี่ยงของธุรกิจมีมากเกินความจำเป็น ธุรกิจอาจซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนที่น้อยลง ลดจำนวนพนักงานที่จะมาทำงานเสริมในวันนั้น ๆ ฯลฯ เพื่อให้ต้นทุนดังกล่าวลดลง แต่การลดสิ่งต่าง ๆ ลงนั้น ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดสินค้าไม่พอขาย หากเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังที่คาดการณ์เช่นเดียวกัน

สมมติให้ธุรกิจดังกล่าวตัดสินใจที่จะลดต้นทุนในวันนั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดยอดขายในจำนวนที่น้อยลง หากเหตุการณ์เป็นไปตามปกติ เพราะมีอาหารไม่เพียงพอต่อการขาย หรือมีการบริการที่ไม่ดี แต่ในทางกลับกันก็จะมีผลตอบแทนมากขึ้นเมื่อสภาวะอากาศไม่ดี คือเกิดฝนตก สมมติว่าหากฝนไม่ตกธุรกิจร้านอาหารนี้ จะมีผลตอบแทนจำนวน 40,000 บาท แต่ถ้าหากฝนตกจะได้รับผลตอบแทนจำนวน 20,000 บาท จะทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังของกิจการมีค่าเท่ากับ 40,000 (0.4) + 20,000 (0.6) = 28,000 บาท ซึ่งจะมีค่าผลตอบแทนสูงกว่าในกรณีแรก และหากเราพิจารณาถึงค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้วจะพบว่ามีค่าลดลงมากกว่าเดิม คือ มีค่าเท่ากับ 9,798 บาท

การที่อัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานลดลงนั้น แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของกิจการลดลงด้วยเช่นกัน เพราะความเบี่ยงเบนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับนั้นมีความแน่นอนมากขึ้น เมื่อใดที่ธุรกิจสามารถพยากรณ์ผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ธุรกิจนั้นความเสี่ยงก็จะลดลง

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ โดยใช้ตัวอย่างแบบง่าย เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจพื้นฐานในการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งสามารถนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในเชิงธุรกิจต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น