xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ ตอน 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


จากตัวอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้กล่าวถึงการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ โดยยกตัวอย่าง กรณีที่เราเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และกำลังจะพิจารณาถึงยอดขายของวันศุกร์สิ้นเดือน (วันเงินเดือนออก) โดยปกติการประมาณการขายในวันนี้จะต้องประมาณการว่า ร้านอาหารจะขายดีมาก แต่การประมาณการยอดขายนั้นอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากวันใดฝนตก วันนั้นจะมียอดขายต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงขึ้น เพราะการลงทุนในร้านอาหารแต่ละวันนั้นมีทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างคงที่ และค่าใช้จ่ายที่ผันแปรไปตามยอดขาย

ค่าใช้จ่ายคงที่ของร้านอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถึงแม้ร้านอาหารจะมียอดขายดีหรือไม่ก็ตาม ร้านอาหารจะต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น ค่าเช่าร้านอาหาร ค่าเช่าที่จอดรถยนต์ ค่าแรงพนักงาน ฯลฯ สำหรับค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะผันแปรเปลี่ยนไปตามยอดขาย หากขายมากขึ้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะสูงขึ้น เช่น ค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ค่าเครื่องดื่มต่าง ๆ ค่าเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารฯลฯ

เมื่อยอดขายจะเกิดการผันแปรไปตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลตอบแทนของร้านอาหารในวันดังกล่าวนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน ความเสี่ยงของธุรกิจก็จะเกิดขึ้น เพราะรายได้และผลตอบแทนของการประกอบการในวันนั้นเกิดความไม่แน่นอนขึ้น

หากสมมติเหตุการณ์เป็นตัวเลขจำนวนเงิน เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าในในภาพรวมมากยิ่งขึ้น จึงขอสมมติให้ การประกอบธุรกิจร้านอาหารโดยทั่วไปแล้วนั้น ร้านอาหารที่ประกอบการอยู่จะมีกำไรในวันศุกร์สิ้นเดือนเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จำนวนกำไรดังกล่าวนี้เจ้าของร้านอาหารจะต้องเป็นผู้ทำการประมาณการขึ้น โดยอาศัยจากข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ว่ามียอดขายในวันที่มีลักษณะดังกล่าวอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามยอดขายนี้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น

สาเหตุที่จะทำให้ยอดขายเกิดความคลาดเคลื่อนได้มากที่สุดตามเหตุการณ์ข้างต้น คือ สภาพภูมิอากาศ เพราะถ้าหากฝนตก ยอดขายของร้านอาหารจะมีจำนวนที่ลดลง และจะทำให้ผลตอบแทนนั้นมีจำนวนที่ลดลงด้วยเช่นกัน สมมติให้กำไรในวันศุกร์สิ้นเดือน และเป็นวันที่ฝนตก มีจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากธุรกิจมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก และการประมาณการผลกำไรของวันที่ฝนตกนี้ก็มาจากประสบการณ์ในอดีตเช่นเดียวกัน

การประมาณการผลกำไรในวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับโอกาสที่ฝนจะตก หากเจ้าของร้านฟังการพยากรณ์ภูมิอากาศจากกรมอุตนิยมวิทยา พบว่า มีการพยากรณ์ถึงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานครว่า จะมีโอกาสฝนตกร้อยละ 60 หากเราพิจารณาจากการพยากรณ์ดังกล่าว แสดงว่าโอกาสที่ฝนจะไม่ตกนั้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของโอกาศทั้งหมด

การประมาณการผลกำไรของร้านอาหารวันนี้จึงทำได้โดย นำเอาโอกาสของการเกิดฝนตกแต่ละเหตุการณ์คูณกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละเหตุการณ์ แล้วนำผลลัพท์ที่ได้ทั้งหมดมาบวกเข้าด้วยกัน คือ (50,000 x 0.40) + (10,000 x 0.60) = 20,000 + 6,000 = 26,000 บาท

หากเราเป็นเจ้าของร้านอาหารนี้ จะสามารถประมาณได้ทันทีว่า ถ้าวันนี้เปิดร้านอาหารขายตามปกติ จะมีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในวันนี้ 26,000 บาท แต่ทั้งนี้การประมาณดังกล่าวอาจจะยังไม่มีความแน่นอนเท่าใดนัก เพราะผลตอบแทนหรือกำไรที่จะได้รับจริงนั้นอาจจะได้รับมากกว่า 26,000 บาทก็ได้ หรืออาจจะได้รับน้อยกว่านั้นก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้หากความไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นมากเท่าใด ความเสี่ยงของกิจการก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้นด้วย เพราะความเสี่ยงจะเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเกิดขึ้น ตามหลักการทางสถิตินั้น การวัดค่าความไม่แน่นอนของผลตอบแทนนั้นสามารถทำได้โดย การวัดค่าความแปรปรวน (Variance) หรือค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) หากเราทำการคำนวณหาค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้วจะพบว่า ธุรกิจร้านอาหาร ณ วันนี้จะมีค่าความเบี่ยงเบน 19,595.91 บาท (ผู้เขียนขอละวิธีการคำนวณเอาไว้ ซึ่งหากมีโอกาสในภายหน้าผู้เขียนจะอธิบายต่อไป) ซึ่งเป็นความเบี่ยงเบนที่มีค่ามากพอควร เพราะรายได้ของร้านอาหารอาจเกิดการเบี่ยงเบนไปจากค่าที่ประมาณการไว้ 26,000 บาท คืออาจจะมากกว่าที่ประมาณไว้ 19,595.91 บาท หรืออาจจะน้อยกว่านั้น 19,595.91 บาทได้เช่นกัน ดังนั้นการที่ธุรกิจจะมีความไม่แน่นอนมากเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานว่ามีขนาดใหญ่เพียงใด ถ้าค่าเบียงเบนมาตรฐานสูง ก็แสดงว่าโอกาสของการมีกำไรและขาดทุนก็จะสูงด้วยเช่นเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น