xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม เมินอาหารนอกบ้านช่วงเศรษฐกิจซบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และความกังวลถึงความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต ซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริโภคต่างพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวัน ทั้งนี้เพื่อออมเงินไว้ใช้ในอนาคต หลากหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยธุรกิจร้านอาหารก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคลดความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือถ้าออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวลดลง และเลือกร้านอาหารที่จะไปรับประทานมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดความถี่ในการบริโภคอาหารนอกบ้าน ในขณะที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านก็ปรับพฤติกรรมหันไปเลือกรับประทานที่ร้านอาหารทั่วไปแทนการรับประทานในร้านอาหารต่างประเทศหรือร้านหรู แม้ว่าจะมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านไว้ โดยยังคงไปรับประทานที่ร้านที่โปรดปราน แต่หันไปปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในด้านอื่นๆแทน รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในด้านความสนใจในเรื่องสุขภาพและการประหยัดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะในตลาดร้านอาหารรายย่อย อันเป็นผลมาจากการลงทุนไม่สูงมากนัก และระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างสั้น ส่วนร้านอาหารต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี และอิตาเลี่ยนก็มีผู้ประกอบการรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศ...หดตัวร้อยละ 3.0-4.0
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปี 2552 ลดลงเหลือประมาณ 194,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 3.0-4.0 เมื่อเทียบกับปี 2551 ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคลดความถี่ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และลดค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทย รวมกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 900 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทยในแต่ละครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละภาค กล่าวคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล 2,00 บาท ภาคกลาง 1,000 บาท ภาคใต้ 700 บาท ภาคเหนือ 500 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณร้อยละ 18 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ หรือประมาณ 86,400 ล้านบาท

ในปี 2551 ร้านอาหารในประเทศมีจำนวน 58,549 ร้าน เมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วจำนวนร้านอาหาร/ภัตตาคารลดลงร้อยละ 8.7 เนื่องจากมีร้านอาหารปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหารในต่างจังหวัด แยกเป็นร้านอาหารในกรุงเทพฯ 12,000 ร้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วใกล้เคียงกัน และร้านอาหารในต่างจังหวัด 46,549 ร้าน ลดลงร้อยละ 10.7 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้จำนวนร้านอาหารในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2551 เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากร้านจำหน่ายอาหารไทยด้วยกันเอง และร้านอาหารต่างประเทศที่เข้ามาขยายกิจการในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ในขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสด และในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้บริโภคเน้นประหยัดโดยลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนร้านอาหารมีแนวโน้มปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อย และร้านอาหารหรูบางแห่งที่ทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว รวมทั้งการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรของร้านอาหารบริการด่วนบางแห่ง

จากการคาดการณ์ว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในประเทศในปี 2552 หดตัวร้อยละ 3.0-4.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งมีเพียงร้านอาหารต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังมีการเติบโตอย่างโดดเด่น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจคนกรุงเทพฯที่เลือกลิ้มลองอาหารต่างชาติเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน และสามารถจัดลำดับอาหารต่างชาติยอดนิยม 5 อันดับแรกได้ดังนี้ อาหารญี่ปุ่นครองอันดับหนึ่ง รองลงมาคืออาหารจีน อาหารอเมริกัน อาหารเวียดนาม และอาหารอิตาเลี่ยน คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังจะขยายตัวได้อีกค่อนข้างมาก

ปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย คือ การปรับรสชาติอาหารให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การเลือกทำเลให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรับรู้ข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้อง และการมีบุคลากรระดับบริหารที่มีความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จต้องมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพของอาหาร โดยเฉพาะความสดใหม่ของอาหาร เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งเน้นบริการที่ดีเยี่ยมเป็นที่ประทับใจของลูกค้า ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ที่มีอยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอย่างมาก

ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว
ท่ามกลางหลากปัญหาที่รุมเร้าที่ทำให้ยอดจำหน่ายของธุรกิจ จากการที่ผู้บริโภคเน้นประหยัด อันเป็นเนื่องจากความกังวลต่อรายได้ในอนาคต รวมทั้งผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัว โดยการงัดสารพัดกลยุทธ์มาล่อใจลูกค้า

คุณภาพและความคุ้มค่า แนวทางการปรับตัวที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการให้คุณภาพและความคุ้มค่ากับลูกค้า ซึ่งแม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะได้รับผลกระทบจากหลากหลายปัญหารุมเร้า หรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากหรือน้อยก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพอาหาร โดยการสร้างมาตรฐานภายในทั้งด้านสินค้าและทรัพยากรบุคคล การใช้กลยุทธ์แค่ลด แลก แจก แถมอย่างเดียวคงจะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องพยายามศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า

นอกจากนี้ การรักษาคุณภาพของอาหารนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เนื่องจากในปัจจุบันมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคเรียกร้องค่าเสียหายจกาการบริโภคอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารรายใดมีปัญหาในเรื่องคุณภาพของอาหารส่งผลกระทบต่อธุรกิจและชื่อเสียงของร้าน ดังนั้นการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แบรนด์ของร้านด้วย โดยเฉพาะความเข้มงวดในการจัดการภายในและความเข้มงวดในการคัดเลือกซัพพลายเออร์

การรักษาฐานลูกค้า ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละรายต้องพยายามหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาฐานลูกค้า เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องพยายามทำให้ลูกค้านึกถึงก่อนรายอื่นๆ หรือการเข้าไปอยู่เป็นทางเลือกลำดับแรกของลูกค้า

การซื้อกิจการหรือซื้อแบรนด์ใหม่ การซื้อกิจการหรือซื้อแบรนด์ใหม่นั้นยังเป็นช่องทางการขยายตลาดของธุรกิจร้านอาหาร โดยเน้นการสร้างความหลากหลายของประเภทอาหาร ทั้งเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นคือ ต้องเป็นกิจการหรือแบรนด์ที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือเป็นธุรกิจเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักเดิม

การปรับองค์กรให้กระชับขึ้น ธุรกิจร้านอาหารบางแห่งหันมาใช้กลยุทธ์การปรับองค์กรให้กระชับขึ้น โดยยึดหลักว่าใช้พนักงานให้น้อยที่สุด เช่น การปรุงอาหารใช้ครัวกลางเป็นหลักหรือทำให้เสร็จเรียบร้อยไปแล้วร้อยละ 80-90 เมื่อไปถึงหน้าร้านแต่ละแห่งก็มีขั้นตอนเพิ่มเพียงการใส่ผัก ใส่เนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถลดจำนวนพนักงานในแต่ละร้าน และพนักงานหน้าร้านก็ไม่ต้องใช้พนักงานที่มีความชำนาญสูงมากนัก รวมทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการช่วยรับคำสั่งของลูกค้าอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น