คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต
ในสัปดาห์ก่อน ๆ ผู้เขียนได้แนะนำถึงขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงตามแนวทางของ COSO ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทอื่น ๆ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐบาล ฯลฯ กำลังให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงกันมากขึ้น
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นกิจกรรมที่ทุกธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญในด้านการบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ธุรกิจจะลงทุนในสิ่งใดแล้ว ผลที่ธุรกิจต้องการก็คือผลตอบแทนสูงสุด หรือมีกำไรสูงสุด แต่การที่ธุรกิจจะมีกำไรสูงสุดหรือมีผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้นยังคงไม่พอในการบริหารจัดการธุรกิจในยุค
ปัจจุบัน การบริหารธุรกิจในปัจจุบันจะเน้นที่ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ เพราะการที่บริษัทมีกำไรที่มากหรือผลตอบแทนสูง ไม่ได้แสดงถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้รับผระโยชน์สูงสุดด้วย แต่หากมองในมุมที่กลับกัน ถ้าผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งดี แสดงว่าธุรกิจนั้นมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
ความเสี่ยงของธุรกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่บริษัทคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่นบริษัทคาดว่าในปีนี้จะทำกำไรได้สูงกว่าปีอื่น ๆ แต่ผลการดำเนินการออกมาไม่เป็นไปดังที่คาดเอาไว้ แสดงว่าการคาดการณ์ของบริษัทนั้นมีความเสี่ยง สาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้กำไรตามที่คาดการณ์ไว้นั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางการตลาด ราคาวัตถุดิบ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้การค้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป
ดังนั้นหากธุรกิจใดสามารถประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็จะสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทสามารถประเมินค่าความเสี่ยงได้แล้วนั้น บริษัทก็จะสามารถที่พยายามปรับลดค่าความเสี่ยงให้เข้าสู่ค่าความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้ โดยการปรับค่าความเสี่ยงนั้น อาจทำได้โดยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น ลดการสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสีย เมื่อบริษัทเกิดอัคคีภัย หรือราคาสินค้าดังกล่าวนั้นมีราคาที่ลดลงในอนาคต หรือในทางกลับกัน บริษัทอาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้บริษัทสามารถปกป้องไม่ให้เกิดค่าเสี่ยงขึ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า การซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ฯลฯ
การวัดหาค่าความเสี่ยงนั้น เราสามารถใช้เครื่องมือทางการคำนวณ เพื่อช่วยในการวัดหาค่าความเสี่ยงได้ เช่น ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าเบต้า (Beta) ฯลฯ
หากเราจะเริ่มต้นในการวัดความเสี่ยงของธุรกิจอย่างง่าย ๆ เราคงต้องเริ่มพิจารณาจากการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน ว่าการทำธุรกิจในแต่ละวันนั้นมีความเสี่ยงเพียงใด และเราจะสามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่ สมมติ หากเราเป็นธุรกิจประกอบร้านอาหาร ยอดขายในแต่ละวันนั้นจะมียอดขายที่ไม่สม่ำสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของวัน เช่น ร้านอาหารมักจะขายดีในช่วงวันศุกร์ ถึงวันอาทิตย์ เพราะเป็นช่วงวันที่คนโดยทั่วไปนิยมใช้เป็นวันพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสมัยเรียน ครอบครัว ฯลฯ แต่ในช่วงของวันจันทร์ ถึงวันพฤหัสบดี ร้านอาหารจะมียอดขายที่ต่ำกว่าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดพิเศษในเทศกาลต่าง ๆ
หากเราเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และวันที่เรากำลังจะพิจารณากันนั้นเป็นวันศุกร์ และเป็นวันสิ้นเดือน (เงินเดือนออก) การประมาณการของร้านอาหารโดยทั่วไป จะต้องประมาณการว่ากิจการในวันนี้จะต้องขายดี แต่การประมาณการยอดขายนั้นอาจไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น สภาพภูมิอากาศ สภาพการจราจร ฯลฯ ดังนั้นความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารอาจเกิดขึ้นได้โดย การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ เช่น ในช่วงฤดูฝน หากฝนตกในวันใด วันนั้นจะมียอดขายต่ำกว่าปกติ
ดังนั้นการประมาณการยอดขายในแต่ละวัน ตลอดจนผลกำไรในแต่ละวันของร้านอาหารจะต้องมีการประเมินขึ้น เพื่อประมาณการยอดขายแลผลกำไรในแต่ละวันที่ควรจะเป็น แต่ถ้าหากวันดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกขึ้น การประมาณการยอดขายจะเปลี่ยนไปจากสภาวะปกติ ซึ่งการประมาณการนั้น โดยปกติยอดขายของร้านอาหารจะต้องต่ำว่าการที่มีสภาพภูมิอากาศปกติ
จะเห็นได้ว่าเมื่อผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพภูมิอากาศ ร้านอาหารก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้น เพราะรายได้และผลตอบแทนเกิดความไม่แน่นอนตามสภาพของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในสัปดาห์หน้าผู้เขียนจะอธิบายถึงกลไกการวัดความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางสถิติช่วยในการวัด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในวิธีการวัดความเสี่ยงอย่างง่าย
พบกันสัปดาห์หน้าครับ