xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารความเสี่ยงเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


การบริหารความเสี่ยงเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ (Enterprise Risk Management: ERM) ตอน 2

ขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงจึงต้องเริ่มจาก การวิเคราะห์ความเสี่ยงอิสระ (Silo View) แล้วจึงนำความเสี่ยงเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกัน (Portfolio View) และขั้นตอนของการดำเนินการบริหารความเสี่ยงนั้นสามารถกำหนดได้เป็นขั้น ๆ ดังนี้

เริ่มวิเคราะห์ที่ตัวกิจการเองเป็นการเริ่มต้น (Internal Environment) คือ การจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของธุรกิจนั้นต้องเริ่มที่กิจการก่อนเป็นอันดับแรก หากกิจการหรือธุรกิจใดยังไม่มีการบริหารความเสี่ยง หรือมีแล้วแต่ยังไม่ชัดเจน จะต้องเริ่มทำโดยทันที เพราะความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงเหล่านั้นสามารถบริหารจัดการได้ และถ้ากิจการสามารถบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นได้เหมาะสม กิจการก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจัดการกับความเสี่ยงได้อีก

การบริหารความเสี่ยงของกิจการโดยทั่วไป จะต้องมีการพิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะการบริหารความเสี่ยงนั้นจะต้องคำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนควบคู่กันไป การที่เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี แต่ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับนั้นต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นมีต้นทุนสูง การบริหารความเสี่ยงนั้นก็อาจไม่คุ้มค่า

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว การเริ่มจัดทำการจัดการบริหารความเสี่ยงของบริษัทต้องมีความชัดเจน บริษัทควรมีคณะกรรมการพิจารณาความเสี่ยง และมีผู้จัดการหรือผู้บริหารด้านความเสี่ยง (CRO: Chief Risk Officer) เพื่อรับผิดชอบดูแลด้านความเสี่ยงโดยตรง

ขั้นตอนต่อมาเป็นการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการและนโยบายการบริหารความเสี่ยง (Objective Setting) การที่กิจการมีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการนั้น เป็นการกำหนดถึงการวัดความเสี่ยงในทางอ้อมเช่นเดียวกัน คือ หากผลการดำเนินงานของกิจการพลาดไปจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ กิจการนั้นก็จะเกิดความเสี่ยง ดังนั้นการตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในขั้นตอนแรก ๆ ของการบริหารความเสี่ยง และเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องกำหนดใหชัดเจน เป็นรูปธรรม และสิ่งที่สำคัญคือ จะต้องสามารถวัดผลได้ มิฉะนั้นการประมาณการความเสี่ยงจะไม่สามารถดำเนินการได้

ในขั้นตอนนี้กิจการจะต้องมีการกำหนดถึงความเสี่ยงที่พึงประสงค์ (Risk Appetite) หรือความเสี่ยงที่กิจการปรารถนาจะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อีกนัยหนึ่งก็คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว กิจการสามารถยอมรับถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ เช่น กิจการจะมีการค้ากับต่างประเทศ กิจการนั้น ๆ จะต้องทราบดีว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการทำการค้ากับต่างประเทศที่จะต้องเกิดขึ้นนั้นอาจมีหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้า ฯลฯ การกำหนดความเสี่ยงที่พึงประสงค์นี้ เป็นการกำหนดเพื่อให้กิจการทราบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้น จะมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมการในการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ

อีกความเสี่ยงหนึ่งที่กิจการจะต้องทำการตั้งไว้ตั้งแต่การดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ คือ Risk Tolerance หรือความเสี่ยงที่กิจการพร้อมที่จะยอมรับได้ หรือความเสี่ยงสูงสุดที่กิจการสามารถรับได้ ตามที่ได้ตั้งไว้ใน Risk Appetite ที่กิจการเลือกไว้ตั้งแต่แรก เช่น ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กิจการอาจยอมรับได้ว่าการลงทุนหรือการทำการค้ากับต่างประเทศนั้นจะต้องมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่กิจการจะต้องมีขอบเขตหรือความจำกัดในการยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้กิจการเกิดการขาดทุนมากจนเกินไป เมื่อความเสี่ยงถึงจุดที่กิจการไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้นได้ กิจการจึงต้องมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำสัญญา Forward ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคาร เป็นต้น

ในขั้นตอนนี้ ไม่เพียงเฉพาะการกำหนดถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นที่กิจการจะต้องกำหนดถึงนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

การกำหนดนโยบายในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจนั้น เป็นการกำหนดแนวทางของการบริหารความเสี่ยงให้ทุกหน่วยงานในบริษัทใช้เป็นหลักในการทำงาน การกำหนดนโยบายนี้สามารถทำได้โดย เริ่มต้นด้วยการประเมินความเสี่ยง ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นความเสี่ยงประเภทใด จะมีวิธีในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร เพื่อกำหนดถึงแนวทางในการบริหารความเสี่ยง แล้วจึงทำการกำหนดทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง ว่าทางเลือกในปารบริหารความเสี่ยงแบบใด จะมีต้นทุนในการบริหารเท่าใด และมีผลกระทบต่อต้นทุนของกิจการมากน้อยเพียงใด โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียของกิจการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ผลกระทบจะต้องทำการพิจารณาทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายในและจากภายนอกของกิจการด้วย

เมื่อกำหนดทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงแล้ว กิจการจะต้องทำการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง โดยมีมาตรฐานในการพิจารณาคือ ให้ทางเลือกที่จะเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด มีต้นทุนน้อยที่สุด และมีผลกระทบต่อกิจการต่ำที่สุด โดยการเลือกทางเลือกดังกล่าวจะต้องใช้เกณฑ์ในการพิจารณาเหล่านี้ควบคู่กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น