xs
xsm
sm
md
lg

นิยามของความเสี่ยง ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


ความเสี่ยงมีความหมายในหลากหลายแง่มุม เช่น ความเสี่ยงคือ โอกาสที่เกิดขึ้นแล้วธุรกิจจะเกิดความเสียหาย (Chance of Loss) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ (Possibility of Loss) ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น (Uncertainty of Event) และ การคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์ (Dispersion of Actual Result)

ดังนั้นนิยามของความเสี่ยงจึงอาจสามารถกำหนดได้ง่าย ๆ คือ ความคลาดเคลื่อนของผลตอบแทนที่ธุรกิจคาดการณ์ไว้ หากความคลาดเคลื่อนนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่าใด หรือเกิดขึ้นแล้วจะมีความเสียหายมากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงนั้นก็จะมีค่ามากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน การที่ผู้เขียนนิยามความเสี่ยงเช่นนี้ เพราะเมื่อความเสี่ยงต่าง ๆ เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจะสามารถวัดผลกระทบได้จากผลตอบแทน (ของผู้ถือหุ้น) เป็นสำคัญ เพราะเมื่อเกิดผลกระทบใดต่อบริษัทแล้ว ในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลตอบแทนด้วยเช่นกัน

มีศัพท์เทคนิคทางความเสี่ยงอยู่ 3 คำ ที่ผู้ทำการประเมินความเสี่ยงนั้นมักใช้สับสนกัน คือ ความเสี่ยง (Risk) ภัย (Peril) และสภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Hazard) หรือเราอาจกำหนดเป็นการลำดับเหตุการณ์ได้ว่า ภัยต่าง ๆ นั้นเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง และจะเป็นสภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย

เพื่อให้ความเข้าใจในคำสามคำนี้มากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ ประกอบ คือ หากบ้านของเราปลูกอยู่ในที่ชุมชนแออัด ภัยของชุมชนแออัด คือ เพลิงไฟที่จะเกิดขึ้น ความเสี่ยงคือ การที่ผู้อยู่อาศัยไม่ทราบว่าจะเกิดไฟไหม้เมื่อใด และการอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดนั้น เป็นสภาวะของการส่งเสริมให้เกิดความเสียหาย

ผู้เขียนขออธิบายถึงคำทั้งสามคำนี้อย่างละเอียดคือ
1. ภัย (Peril) คือ สาเหตุของความเสียหาย ซึ่งภัยสามารถเกิดขึ้นได้จากภัยธรรมชาติ เช่น เกิดพายุ สึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น ภัยนอกจากจะเกิดขึ้นได้จากภัยธรรมชาติแล้ว ภัยนั้นยังเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อัคคีภัย จลาจล ฆาตกรรม เป็นต้น สำหรับสาเหตุสุดท้ายที่จะเกิดภัยได้นั้นคือภัยที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ เพราะภัยที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นอีกสาเหตุที่สำคัญ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วคนทั้งประเทศ หรือทั้งภูมิภาคจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

2. ความเสี่ยง (Risk) คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ความเสี่ยงนั้น ๆ จะมีแนวโน้มที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยในบริษัท

3. สภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Hazard) คือ สภาพเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเสียหายเพิ่มสูงขึ้น โดยสภาวะต่าง ๆ นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น สภาวะทางด้านกายภาพ (Physical) คือ สภาวะของโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย เช่น ชนิดและทำเลที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง อาจเอื้อต่อการเกิดเพลิงไหม้ สภาวะทางด้านศีลธรรม (Moral) คือ สภาวะของโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เช่น การฉ้อโกงของพนักงาน และสภาวะด้านจิตสำนึกในการป้องกันความเสี่ยง (Morale) คือ สภาวะที่ไม่ประมาทและเลินเล่อ หรือการไม่เอาใจใส่ในการป้องกันความเสี่ยง เช่น การที่พนักงานปล่อยให้เครื่องจักรทำงานโดยไม่ควบคุม

นิยามของความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่อาจละเลย พนักงานทุกคนในบริษัทควรรับรู้ถึงนิยามความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามของความเสี่ยงของบริษัท เพราะการที่พนักงานทุกคนมีความเข้าใจในความเสี่ยงตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ทุกคนจะตระหนักดีในเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยทำให้พนักงานทุกคนมีความระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น

ความเสี่ยงที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ (Financial Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วสามารถวัดค่าของความเสียหายออกมาเป็นตัวเงินได้ เช่น ไฟไหม้โรงงานผลิตสินค้า บริษัทจะสามารถคำนวณค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตสินค้าได้ โดยการประเมินถึงทรัพย์ที่เกิดความเสียหายและตีค่าออกมาเป็นจำนวนเงิน เหตุการณ์รถยนต์ประสบอุบัติเหตุจากการนำของไปส่งให้แก่ลูกค้า บริษัทก็จะสามารถตีค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเงินได้เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงประเภทนี้จะถูกจัดอยู่ใน Financial Risk

ความเสี่ยงที่ไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ (Non-Financial Risk) เป็น ความเสี่ยงที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ เช่น การเสียชีวิตของพนักงานบริษัทจากเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้พนักงานขับรถยนต์ของบริษัทถึงแก่ชีวิต การสูญเสียของชีวิตนั้นจึงไม่สามารถประเมินค่าความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเงินได้ แต่การเสียหายของทรัพย์สินนั้นสามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ บริษัทที่มีสินค้าคงเหลือไว้ไม่พอจำหน่าย เมื่อผู้บริโภคหรือลูกค้าต้องการซื้อสินค้านั้นแล้วบริษัทไม่มีจำหน่าย ลูกค้าจึงเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตรายอื่น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้เช่นเดียวกัน แต่บริษัทนั้นก็ทราบดีว่าบริษัทเกิดความเสียหาย

ความเสี่ยงที่ผันแปรได้ (Dynamic Risk) เป็นความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ลูกค้าหรือผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภคสินค้า เทคโนโลยีในตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้สินค้าที่เดิมเคยขายได้ดีเกิดมียอดขายที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายของบริษัทลดลง ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่มีความแน่นอนในการเกิดความเสี่ยง ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นในรูปแบบใด ตลอดจนผลกระทบของความเสี่ยงประเภทนี้ก็มีลักษณะไม่เหมือนกันในทุกครั้งที่เกิดความเสี่ยงนี้ด้วย

ความเสี่ยงที่ผันแปรไม่ได้ (Static Risk) หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความเสี่ยงที่คงที่ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแก่บริษัทจากปัจจัยอื่น ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ เช่น บริษัทเกิดความเสี่ยงเนื่องจากพนักงของบริษัทปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นต้น

ความเสี่ยงพื้นฐาน (Fundamental Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น เกิดภาวะสงคราว แผ่นดินไหว น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้เป็นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้ เพราะเมื่อความเสี่ยงประเภทนี้เกิดขึ้นแล้ว คนในสังคมจะได้รับความเสี่ยงนี้ในระดับที่เท่า ๆ กัน

ความเสี่ยงจำเพาะ (Particular Risk) เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น ไฟไหม้ จะทำให้เกิดความเสียหายเฉพาะบริษัทที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับส่วนรวม เช่น บริษัทถูกไฟไหม้ บริษัทถูกโจรกรรม ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น