xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนในกองทุนรวม (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


การลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเป็นอีกรูปแบบของการลงทุนที่น่าสนใจ มีความเสี่ยงไม่สูงมาก และที่สำคัญเหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่มีความรู้ในเรื่องของการลงทุนน้อย

กองทุนรวม เป็นวิธีการในการลงทุนวิธีหนึ่ง ที่ผู้มีเงินเหลือเก็บออม มาร่วมลงทุนกัน โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่นำเงินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในตลาดการเงิน ตามนโยบายการลงทุนที่มีการบอกกล่าวกันไว้ล่วงหน้า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะถูกสะสมไว้ในกองทุนรวม

ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับนั้น จะถูกสะสมไว้ แต่หากผู้ลงทุนต้องการรับผลตอบแทนดังกล่าว ผู้ลงทุนก็สามารถที่จะขายหน่วยลงทุน (ที่ได้ลงทุนไว้กับกองทุน) เพื่อรับผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนเพิ่มมูลค่าเงินทุน หรือหากผู้ลงทุนไม่ต้องการรับผลตอบแทนในทันที ผู้ลงทุนจะสามารถรอรับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ทั้งนี้กองทุนรวมที่ลงทุนนั้นจะต้องมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผล

ผู้ลงทุนแต่ละคนจะได้รับผลตอบแทนตามสัดส่วนการลงทุนของตนเองเท่าที่มีส่วนร่วมอยู่ ผู้ที่ร่วมลงทุนมากจะได้รับผลตอบแทนมาก และผู้ที่ร่วมลงทุนน้อยจะได้รับผลตอบแทนน้อยเช่นเดียวกัน

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นจะช่วยผู้ลงทุนที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในการลงทุน ให้สามารถลงทุนได้ และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยลง เพราะการลงทุนในกองทุนรวมจะมีการจัดจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมาเป็นผู้จัดการเงินลงทุนนั้นให้เป็นไปตามหลักการลงทุนที่ดี คือ ต้องมีการกระจายความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการลงทุนเลยทีเดียว เพราะความเสี่ยงในการลงทุนมักจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลตอบแทนเสมอ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ด้วยความชำนาญของผู้จัดการกองทุนแล้ว การลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ได้รับสูง แต่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจมีความเสี่ยงที่ลดลงได้เช่นกัน

โดยทั่วไปการลงทุนในกองทุนรวมนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนทางอ้อม เพราะผู้ลงทุนไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ใด แต่ผู้ลงทุนจะเป็นผู้เลือกกองทนรวมที่จะลงทุนด้วย โดยการศึกษาจากนโยบายของกองทุนต่าง ๆ แต่ผู้ที่จะตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ลงทุนนั้น จะเป็นผู้จัดการกองทุน

ในการระดมเงินทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จะต้องมีการนำเสนอขายต่อสาธารณะ ว่ากองทุนนั้นมีมูลค่าโครงการเท่าใด มีการกำหนดราคาเริ่มต้นต่อหน่วยไว้ที่ใด (ราคาที่ตราไว้ หรือเรามักจะรู้จัดกันในนามของ ราคา Par) โดยที่ราคา Par นั้นอาจมีมูลค่าต่อหน่วยลงทุน ที่หน่วยละ 10 บาท หรือ 1 บาท พร้อมทั้งบอกจำนวนหน่วยที่ออกจำหน่าย

หน่วยการจำหน่ายของกองทุนรวมนั้น เรียกว่า “หน่วยลงทุน” หากผู้ลงทุนต้องการร่วมลงทุนในกองทุนใดก็ตาม ผู้ลงทุนจะต้องทำการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น ๆ และถ้าผุ้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนแล้ว สถานะของผู้ลงทุนจะกลายเป็น “ผู้ถือหน่วยลงทุน” นั่นเอง

ในการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปจัดตั้งกองทุนรวมนั้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จะต้องนำเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าวต่อประชาชนนักลงทุนทั่วไป โดยแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน มูลค่าทั้งหมดของโครงการ และกำหนดราคาต่อหน่วยลงทุนของโครงการ

ราคาต่อหน่วยลงทุน หรือราคาเริ่มต้อนต่อหน่วยลงทุน คือ ราคาที่ตราไว้ หรือ Par Value โดยปกติกองทุนรวมต่าง ๆ จะกำหนดราคาเอาไว้ที่หน่วยลงทุนละ 10 บาท (หรืออาจกำหนดแตกต่าง ๆ จากราคานี้ได้)

ผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีเงินออมสามารถร่วมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ได้โดย การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องการลงทุน ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม จะเรียกว่า ผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งก็คล้ายกับการซื้อหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกว่าผู้ถือหุ้นนั่นเอง และหน่วยลงทุนดังกล่าว เปรียบเสมือนหลักทรัพย์ในการลงทุนประเภทหนึ่ง

ตัวอย่างของการลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนไทยมั่นคง มีมูลค่าของโครงการ 2,000 ล้านบาท ราคาที่ตราไว้ หรือราคา Par เท่ากับหน่วยลงทุนละ 10 บาท มีจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายจำนวน 200 ล้านหน่วย มีราคาจองซื้อเท่ากับ 10 บาท หากนาย ก. ต้องการที่จะลงทุนในกองทุนดังกล่าว นาย ก. ก็จะสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ ตามที่ นาย ก. ต้องการ เช่น ถ้านาย ก. มีเงิน 2,000,000 บาท นาย ก. จะซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 200,000 หน่วย ดังกนั้น นาย ก. จะมีส่วนรวมในกองทุนดังกล่าว ร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด

การร่วมลงทุนในกองทุน ผู้บริหารกองทุนจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารเงิน โดยนำเงินร่วมลงทุนนั้นไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มูลค่าของเงินในกองทุนเติบโตขึ้น เมื่อมีการคำนวณราคาของกองทุนอีกครั้งหลังจากผ่านการลงทุนมาระยะหนึ่ง บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องตีราคาหรือมูลค่าของกองทุนรวม ว่ากองทุนดังกล่าวมีผลประโยชน์ที่ได้รับเท่าใด แล้วหักด้ว ค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน สิ่งที่เหลือหลังจากการหักค่าธรรมเนียมดังกล่าว เรียกว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

เมื่อนำเอามุลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่โครงการมี จะได้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุน หรือ มูลค่าของหน่วยลงทุน ซึ่งหากมูลค่าของหน่วยลงทุนสูงกว่าที่ตราไว้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะกำไร แต่ในทางกลับกับ หากมูลค่าของหน่วยลงทุนต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ ผู้ลงทุนก็จะมีสถานะขาดทุน การคำนวณดังกล่าว อาจมีการคำนวณเป็นรายวัน รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีก็ได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงสถานะของตนเองที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น