xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนในกองทุนรวม (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

กองทุนรวมที่จัดแบ่งตามการดำรงอัตราส่วนการลงทุน เช่น กองทุนรวมที่ดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการลงทุนโดยมีการกระจายการลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. จะกำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนรวม ต้องจัดการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ออก หรือรับรองหรือรับอาวัลโดยกิจการใดกิจการหนึ่งเพื่อกองทุนรวมไม่มากจนเกินไป ดังนั้น ไม่ว่ากองทุนรวมจะมีนโยบายเช่นไร จะเป็นกองทุนรวมแบบเปิดหรือปิดก็ตาม ถ้าหากกองทุนรวมดังกล่าวดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศของ ก.ล.ต. ก็จะถือเป็นกองทุนรวมประเภทนี้

การแบ่งประเภทของกองทุนรวมประเภทสุดท้ายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น กองทุนรวมที่แบ่งตามแหล่งที่มาของเงินทุน เช่น กองทุนรวมที่มีทุนมาจากต่างประเทศ หรือกองทุนรวมที่มีผู้ลงทุนมาจากผู้ลงทุนในประเทศ เป็นต้น

กองทุนรวมที่มีทุนมาจากต่างประเทศ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย แต่นำเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุนในต่างประเทศ (On-shore Country Fund) ซึ่งจะแตกต่างจาก กองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในต่างประเทศและเสนอขายในต่างประเทศแต่นำเงินทุนดังกล่าวมาลงทุนในประเทศไทย เราจะเรียกวิธีการนั้นว่า Off-shore Country Fund

กองทุนรวมที่มีทุนมาจากผู้ลงทุนในประเทศ เป็นกองทุนรวมทั่วไปที่จัดตั้งโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในประเทศไทย ระดมเงินทุนมาจากผุ้ลงทุนในประเทศ แต่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศก็สามารถเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุนนี้ได้เช่นกัน

นอกจากการแบ่งประเภทของกองทุนแล้วนั้น กองทุนรวมนั้นยังมีกองทุนรวมในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเราอาจเรียกว่ากองทุนรวมประเภทพิเศษ เช่น กองทุนรวมมีประกัน (Guaranteed Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ฯลฯ

กองทุนพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้มีความหลากหลาย เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นการออมสำหรับผู้มีรายได้ โดยการนำเงินมาร่วมกันลงทุนเป็นระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อสะสมเงนิเอาไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ถือเป็นการสำรองไว้ใช้เพื่อการเลี้ยงชีพในอนาคต และกองทุนประเภทนี้จะมีสิทธิพิเศษ และถือเป็นการจูงใจผู้ลงทุนคือ สิทธิในการลดหย่อนภาษี

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีข้อดีหลายประการ เช่น การที่ผู้ลงทุนร่วมลงทุนในกองทุนรวมนั้น จะทำให้กองทุนมีทุนในการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งมากกว่าการที่ผู้ลงทุนเพียงรายเดียวจะสามารถลงทุนได้ การที่กองทุนรวมมีเงินทุนในการลงทุนจำนวนมากนั้น จะทำให้กองทุนสามารถกระจายการลงทุน เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ได้หลากหลายกว่า

หากผู้ลงทุนรายเดียวต้องการจะลงทุนในหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจะมีเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด จะทำให้เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้จำนวนที่น้อย ไม่หลากหลาย แต่ถ้าหากผู้ลงทุนหลายรายมาร่วมกันลงทุนเป็นกองทุน จะทำให้กองทุนรวมนั้นมีเงินที่จะนำไปใช้ในการลงทุนมาก ถ้ากองทุนรวมที่ผุ้ลงทุนร่วมลงทุนั้นเป็นกองทุนรวมหุ้นทุน ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเงินทุนมีมาก การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะสามารถกระจายการลงทุนออกไปได้มาก ซึ่งอาจจะซื้อหุ้นสามัญของหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพดี ได้ถึง 30 – 40 บริษัท เมื่อการลงทุนในหลักทรัพย์สามารถลงทุนได้มากเช่นนี้ เมื่อหุ้นสามัญของบริษัทใดก็ตามเกิดมีราคาลดลง อาจเป็นด้วยสาเหตุของบริษัทดำเนินงานผิดพลาด หรือสามเหตุอื่น ๆ ทางการตลาด การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ก็ยังไม่ประสบปัญหาขาดทุน เพราะหุ้นสามัญของบริษัทอื่น ๆ นั้นยังคงมีราคาที่ดีอยู่

ข้อดีอีกประการของการลงทุนในกองทุนรวม คือ การลงทุนโดยผ่านกองทุนรวมนั้น ผู้ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก และผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในการเลือกสรรหุ้นสามัญหรือหลักทรัพย์อื่น ๆ เพื่อนำมาลงทุน เพราะกองทุนรวมจะได้รับการบริหารเงินลงทุนจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งผู้จัดการกองทุนรวมนั้น จะต้องมีคุณสมบัติ ผ่านการอบรม ผ่านการสอบ พร้อมทั้งต้องขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และดูแลตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารเงินกองทุน ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของผุ้จัดการกองทุนนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการและมีเหตุผล

นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผุ้ลงทุนจะได้รับความสะดวกสบายในการลงทุน โดยผู้ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะลงทุน ไม่ต้องคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมากนัก และที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม คือ ผุ้ลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนน้อย จะสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ในหลายหลักทรัพย์ในคราวเดียวกัน นับเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี ซึ่งผู้ลงทุนที่มีเงินทุนในการลงทุนน้อยจะไม่สามารถลงทุนได้เช่นนี้ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แต่เพียงลำพัง

การลงทุนในกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะมีการคำนวณมูลค่าของหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวมจะสามารถติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ตลอดเวลา เพื่อประเมินฐานะของการลงทุนตองตนเองว่าการลงทุนในขณะนี้นั้นตนอยู่ในสถานะใด กำไร หรือขาดทุน

การลงทุนโดยทั่วไปของผู้ลงทุนนั้น สามารถเลือกลงทุนได้หลายอย่าง ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย เช่น ลงทุนในหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในบางครั้งการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์บางประเภท เมื่อผู้ลงทุนลงทุนไปแล้ว แต่ต้องการจะขาย เพื่อนำเงินสดมาใช้นั้น อาจทำได้ยาก เพราะหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์บางประเภทนั้น อาจมีสภาพคล่องไม่มาก หรืออาจทำการขายสินทรัพย์เหล่านั้นได้ แต่ราคาอาจไม่ดีตามที่พึงประสงค์

แต่การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผู้ลงทุนจะสามารถขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่ผู้ลงทุนได้ซื้อไว้ได้ง่ายกว่า แต่การลงทุนในกองทุนรวมผุ้ลงทุนต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า การลงทุนในประเภทนี้นั้น เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การลงทุนในระยะสั้น เพื่อหวังกำไรจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ดังนั้นในบางครั้งการลงทุนในกองทุนรวมอาจจะมีสภาพคล่องที่ต่ำได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จะเป็นเพราะสภาพคล่องโดยรวมของตลาดทั้งตลาดก็ลดลงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวม ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งของผู้ที่อาจจะมีเงินลงทุนในจำนวนที่ไม่มากนัก และผู้ลงทุนในกองทุนรวมยังได้รับสิทธิประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ การยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินที่ได้รับจากการลงทุน และถ้าลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วนั้น จะสามารถนำค่าหน่วยลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว มาหักลดหย่อนภาษีได้

นอกจากการพิจารณาข้อดีในการลงทุนในกองทุนรวมแล้วนั้น ก่อนการเลือกลงทุน เราคงต้องพิจารณาถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับกองทุนรวมด้วยเช่นเดียวกัน

การลงทุนในกองทุนรวม จะต้องมีผู้บริหารกองทุนรวม ดังนั้นรายได้ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนนั้นจะต้องถูกหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อเป็นค่าในการบริหารกองทุนของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในบางครั้งการลงทุนในกองทุนรวมอาจได้ผลตอบแทนน้อย หรือขาดทุน ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวเช่นเดียวกัน

การลงทุนในกองทุนรวม เป็นการตกลงกันระหว่างผู้บริหารกองทุนกับผู้ลงทุน ตั้งแต่เริ่มแรกที่จะนำเงินมาร่วมลงทุน แต่ถ้าผู้ลงทุนต้องการที่จะให้ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต่าง ๆ เช่น นโยบายการลงทุน หรือข้อกำหนดของการลงทุน จะกระทำได้ยาก เพราะกองทุนรวมเป็นการลงทุนของกลุ่มคนจำนวนมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด ๆ ก็ตาม จะต้องอาศัยเสียงหรือความเห็นของผู้ถือหน่วยลงทุนส่วนใหญ่ และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อน

การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวม จะกระทำโดยการนำเสนอข่าวสารผ่านการจัดส่งรายงานประจำรอบ 6 เดือน หรือ 12 เดือน ซึ่งข้อมูลที่ผุ้ลงทุนโดยทั่วไปจะได้รับนั้นค่อนข้างช้า และไม่ทันสมัยเท่าใดนัก

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่ว ๆ ไป แต่อาจมีความเสี่ยงของการลงทุนในอัตราที่น้อยกว่า ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ชนิดอี่น ๆ ด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น