คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต
การแบ่งประเภทของกองทุนรวมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ หากเราจะแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามวิธีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ กองทุนรวมประเภทที่ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบอายุโครงการ หรือเรามักจะเรียกกองทุนประเภทนี้ว่า “กองทุนปิด” (Closed-ended Fund) กับหองทุนประเภทที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนกอ่นครบอายุโครงการ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “กองทุนเปิด” (Open-ended Fund)
Closed-end Fund เป็นกองทุนรวมที่ผู้จัดตั้งกองทุนจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่ากองุทนรวมนั้นจะถึงวันครบกำหนดอายุโครงการ กองทุนรวมแบบนี้ จะเสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อระดมเงินทุนจากผู้ลงทุน ในการขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกนั้น กองทุนจะต้องระบุถึงอายุของโครงการว่าจะมีอายุยาวนานเท่าไร โดยจะกำหนดเป็นปี เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น
เมื่อครบอายุของโครงการ บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมจะดำเนินการรับซื้อหน่วยลงทุนคืนจากผู้ถือหน่วยลงทุน (ผู้ลงทุน) โดยการไถ่ถอนกองทุนนั้น บริษัทจะนำเงินจากการขายสินทรัพย์ในกองทุน มาซื้อคืนหน่วยลงทุน การลงทุนในกองทุนปิดนั้นผู้ลงทุนจะไม่สามารถไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุนกับผุ้จำหน่ายได้ก่อนจะครบกำหนดอายุการลงทุน
ดังนั้นการลงทุนในกองทุนปิด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อย เพราะหากลงทุนไปแล้ว จะได้รับเงินคืนจากกองทุนนั้นต้องเป็นไปตามวันและเวลาที่กองทุนได้กำหนดไว้ในอนาคต ดังนั้นบริษัทจัดการหลักทรัพย์กองทุนรวมอาจจะดำเนินการจัดการเพิ่มสภาพคล่องหแก่ผู้ลงทุนได้โดย การจัดหาตลาดรองให้แก่ผู้ลงทุน (ตลาดรอง คือตลาดที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ ตามที่กำหนด เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ตลาดอนุพันธ์ เป็นต้น) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน สามารถนำหน่วยลงทุนไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เมื่อผู้ลงทุนต้องการเปลี่ยนหน่วยลงทุนเป็นเงินสด ก็จะสามารถนำหน่วยลงทุนนั้นมาขายในตลาดได้ ทั้งนี้ราคาของหน่วยลงทุนจะเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาของหน่วยลงทุนนั้นอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าของหน่วยลงทุนก็ได้
Open-end Fund เป็นกองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จัดตั้งขึ้นโดยมีเงื่อนไขในการขายหน่วยลงทุนแตกต่างไปจากกองทุนปิด คือ กองทุนเปิดจะสามารถขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้หลังจากมีการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไปแล้ว และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะดำเนินการซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนประสงค์จะขายหน่วยลงทุนคืน ทำให้จำนวนรวมของหน่วยลงทุนที่กองทุนมีอยู่นั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และลักษณะพิเศษของกองทุนรวมอีกประการคือ กองทุนรวมจะไม่มีการกำหดนระยะเวลาสิ้นสุด
กองทุนเปิดไม่ต้องทำการจัดการซื้อขายหน่วยลงทุนในระบบตลาดรอง เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการรับซื้อและขายหน่วยลงทุนอยู่แล้ว การซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดนั้น จะสามารถกระทำได้ในทุก ๆ วันทำการ แต่อาจมีบางกองทุนอาจกำหนดการซื้อหรือขายเป็นระยะเวลา เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาส เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีความเข้าใจในสัญญา และเงื่อนไขในการลงทุนของกองทุนรวมก่อนทำการตัดสินใจซื้อ
การแบ่งประเภทกองทุนรวมตามประเภทของผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (Retail Fund) และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน (Non-retail Fund)
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนแก่บุคคลทั่วไป ไม่เป็นการขายอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นบางกลุ่ม ซึ่งกองทุนลักษณะนี้จะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุน และกองทุนรวมนี้จะเป็นการนำเสนอขายหน่วยลงทุนแก่บุคคลทั่วไปเป็นวงกว้าง
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย สถาบันการเงินระหว่างประเทศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ
หากเราต้องการแบ่งประเภทการลงทุนโดยวิธีอื่น จะสามารถแบ่งได้โดย แบ่งประเทภตามนโยบายการลงทุน ซึ่งจะดูจากนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมว่าจะนำเงินของผู้ถือหน่วยลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ประเภทใด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน ซึ่งวิธีการในการแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามนดยบายการลงทุนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม
กองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมหุ้นทุน (Equity Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายในการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ (Common Stock) ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ฯลฯ ซึ่งการลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้นั้น จะต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 65 ของมูลค่าทั้งสิ้นของกองทุนรวม สำหรับเงินกองทุนส่วนที่เหลือ ผู้จัดการกองทุนอาจใช้ดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนในการเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ได้ กองทุนในลักษณะนี้จะเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบของ เงินปันผล และการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในอนาคต
กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน การบริหารจัดการเงินกองทุนประเภทนี้นั้น จะไม่สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนได้เลย ผู้ลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและผลกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้ (หรือขาดทุนจากการลดลงของราคาตราสารหนี้) โดยทั่วไปกองทุนรวมตราสารหนี้ จะแบ่งออกเป็น กองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภท กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น จะเลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกินกว่า 1 ปี และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี
กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) เป็นกองทุนรวมที่เลือกลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ซึ่งการเลือกลงทุนนั้นจะเป็นการจัดผสมระกว่างตราสารหนี้และตราสารทุน โดยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนรวม ซึ่งการเลือกลงทุนนั้นจะเป็นไปตามสถานการณ์ของตลาดหรือภาวะทางเศรษฐกิจ