xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทใหม่ของ"เงินหยวน" บนเวทีการเงินและเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงระหว่างทางการจีนกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ของทางการจีน มูลค่า 5.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ พันธบัตรที่ออกโดย IMF ในล็อตนี้ อยู่ในรูป SDRs (Special Drawing Rights: SDRs) ซึ่งทางการจีนเปิดเผยว่า จะทำการชำระเงินค่าพันธบัตรดังกล่าวในรูปสกุล “เงินหยวน” แทนที่จะเป็นสกุล “เงินดอลลาร์สหรัฐฯ” ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า

โดยของข้อตกลงซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ของทางการจีนได้เเเก่ จีนตกลงที่จะซื้อพันธบัตรในรูป SDRs มูลค่า 5.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก IMF แต่จะชำระเงินค่าพันธบัตรดังกล่าวในรูปของ “เงินหยวน” โดยจะอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2552 ซึ่งจะทำให้จีนต้องชำระค่าพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ครั้งนี้ เป็นมูลค่าประมาณ 3.412 แสนล้านหยวน

โดยการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ของทางการจีนครั้งนี้ เป็นข้อตกลงต่อเนื่องจากการประชุมของกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและเกิดใหม่ 20 ประเทศ (กลุ่มประเทศ G-20) เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มประเทศ G-20 ได้ประกาศเพิ่มเงินทุนสมทบให้กับ IMF อีก 5.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนให้กับ IMF และเพื่อเพิ่มทรัพยากรเงินทุนให้กับ IMF สำหรับนำไปจัดสรรช่วยเหลือให้แก่ประเทศสมาชิกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบนี้

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา Board of Directors ของ IMF ได้มีมติเห็นชอบในการออกพันธบัตรในรูป SDRs สำหรับกู้เงินจากประเทศสมาชิก 186 ประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ IMF ดำเนินการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมผ่านการออกขายพันธบัตรให้แก่ประเทศสมาชิก ทั้งนี้ พันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ดังกล่าว จะมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายไตรมาส โดย IMF ไม่ได้ทำการกำหนดเพดานสำหรับการออกพันธบัตรกู้เงินจากประเทศสมาชิกไว้ในเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อเอื้อโอกาสให้ IMF มีความยืดหยุ่นในการระดมเงินทุนสำหรับการดำเนินการของตน อนึ่ง IMF ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับประเทศสมาชิกที่สามารถซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ว่า จะต้องเป็นประเทศที่มีฐานะดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้อตกลงซื้อพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ระหว่างทางการจีนกับ IMF ในครั้งนี้ ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งอาจมีนัยต่อการผลักดันบทบาท “SDRs” และ”เงินหยวน” ในเวทีระดับโลก และต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบสกุลเงินสำรองของโลกในระยะถัดไป โดยจากการสังเกตและวิเคราะห์ในเบื้องต้นจะพบว่า ในกระบวนการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ของทางการจีนภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น อาจจะส่งผลทำให้บทบาทของเงินดอลลาร์ฯ หายไปใน 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก คือ การผลักดัน “SDRs” ให้มีบทบาทมากขึ้นในฐานะสกุลเงินหนึ่งที่รองรับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

ขั้นตอนที่สอง คือ การใช้ “เงินหยวน” แทน “เงินดอลลาร์ฯ” ชำระค่าพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ก็เท่ากับว่าเป็นการลดบทบาทของ “เงินดอลลาร์ฯ” ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศลงอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนที่สาม คือ พันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับกระบวนการกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ ออกจาก “สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก IMF ทำการระดมเงินทุนด้วยการออกพันธบัตร SDRs อย่างต่อเนื่องในอนาคต

และขั้นตอนสุดท้าย คือ IMF อาจใช้ “เงินหยวน” ที่ได้รับชำระค่าพันธบัตร SDRs จากทางการจีน ไปทำการปล่อยกู้ และ/หรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหา ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้เงินหยวนเข้าไปอยู่ในทุนสำรองของประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF โดยปริยาย (และเป็นการลดบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในอีกทางหนึ่ง)

อย่างไรก็ตามว่า นัยสำคัญของการใช้เงินหยวนในการซื้อพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF นับได้ว่าเป็นกระบวนการต่อเนื่องหนึ่งของทางการจีนในการเพิ่มบทบาทให้กับ “สกุลเงินหยวน” ในระดับสากล หลังจากที่ได้ผลักดันประเด็นของการใช้ “ระบบ SDRs” เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกแทน “เงินดอลลาร์ฯ” ในช่วงการประชุมต้นเดือนเมษายน 2552 ของกลุ่มประเทศ G-20 มาแล้ว เนื่องจากปัจจัยลบพื้นฐานของเงินดอลลาร์ฯ จากภาระทางด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ และนโยบายการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่การด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ

นอกจากนี้ การที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่ อาทิ จีน รัสเซีย และบราซิล ต้องการเพิ่มเงินทุนให้กับ IMF ในรูปของการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF แทนที่จะดำเนินการในรูปแบบเดิมๆ (ซึ่งเงินทุนของโครงการเงินกู้ของ IMF ได้มาจากการชำระเงินค่าโควต้าของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ) นั้น อาจมีวัตถุประสงค์แฝงในการเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวที IMF โดยรายงานข่าวในช่วงการประชุม G-20 ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ระบุว่า กลุ่มประเทศ BRIC ประกอบด้วย ประเทศบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) ได้เสนอให้เพิ่มโควต้าใน IMF สำหรับประเทศกำลังพัฒนา 7% เพื่อให้สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของกลุ่มประเทศ BRIC ในระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวมากกว่าข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่เสนอให้เพิ่มเพียง 5%

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้นี้ ก็คือ ข้อตกลงในการซื้อพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ระหว่าง IMF กับนักลงทุนรายอื่นๆ อาทิ ประเทศบราซิล และรัสเซีย ซึ่งได้แสดงเจตจำนงในการซื้อพันธบัตร IMF รายละ 1.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (อินเดีย ก็ได้เคยประกาศว่า จะซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ด้วยเช่นกัน) ว่าจะมีการชำระเงินในรูปสกุลเงินอื่นใดนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ หรือไม่ ขณะที่ แนวทางการบริหารเงินหยวนที่ได้รับชำระค่าพันธบัตร SDRs ของ IMF ก็เป็นประเด็นที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน เนื่องจากบทบาทของ IMF ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับโลกที่สามารถกระจายความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับประเทศสมาชิกถึง 186 ประเทศทั่วโลก อาจทำให้บทบาทของเงินหยวนในเวทีระดับโลกสามารถขยายตัวออกไปได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับประเทศไทย การที่ ”เงินหยวน” มีบทบาทมากขึ้นในธุรกรรมระหว่างประเทศนั้น อาจทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเล็งเห็นความสำคัญของการกระจายรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินอื่นๆ (นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ) อาทิ เงินหยวน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แนะนำมาโดยตลอด ประกอบกับในขณะนี้ ก็ได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่ธปท.กำลังทำการศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของการทำข้อตกลง สว็อปสกุลเงินหยวนในระดับทวิภาคีกับทางการจีน ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนก็อาจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไปตามการเติบโตของการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้กลายมาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 3 ของไทยแล้วในขณะนี้

หมายเหตุ - ส่วนประกอบของสกุลเงินหลักในตะกร้า SDRs ที่ได้มีการทบทวนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 ซึ่งอิงตามบทบาทความสำคัญของแต่ละสกุลเงินในระบบการค้าและการเงินโลกนั้น ประกอบด้วย เงินยูโร (34%) เงินเยน (11%) เงินปอนด์สเตอริงก์ (11%) และเงินดอลลาร์ฯ (44%) โดย IMF จะทำการประกาศค่าของ SDRs เป็นรายวันผ่านทางเว็บไซต์ของ IMF ทั้งนี้ IMF จะมีตารางทบทวนส่วนประกอบของสกุลเงินหลักในตะกร้า SDRs ครั้งต่อไปในช่วงปลายปี 2553 อนึ่งในปัจจุบัน SDRs ทำหน้าที่เป็นหน่วยทางบัญชีมากกว่าจะมีบทบาทในรูปสกุลเงินระหว่างประเทศ

ที่มาศูนย์วิจัยกสิกรไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น