วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลก หันมาให้ความสนใจและวางระบบเศรษฐกิจของโลกใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดิมอีก...ซึ่งเรื่องนี้ เป็นที่มาของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 20 ประเทศ ต้องมาคิดมาวาง รูปแแบบเศรษฐกิจโลกกันใหม่ โดยเฉพาะบรรดาชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก ที่ได้รับผลพวงของความเสียหายไปอย่างหนักหน่วง...
โดยการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก หรือ G-20 ที่เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24-25 ก.ย. 2552 ได้ข้อสรุปร่วมกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องกลยุทธออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategies) การปรับเศรษฐกิจโลกให้กลับมาสู่ความสมดุล การควบคุมความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
การเสนอให้เวทีการประชุม G-20 เป็นเวทีประชุมในการกำหนดกติกาเศรษฐกิจระหว่างประเทศแทน G-8 และการแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
โดยประเด็นสาระสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นและระยะกลาง ทั้งนี้สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ได้สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
- เวทีในการกำหนดเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าและการเงินระหว่างประเทศ จะถูกเปลี่ยนมาเป็นกลุ่ม G-20 แทนกลุ่ม G-8 ซึ่งแต่เดิมเวที G-8 เป็นเวทีของชาติที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งหมดยกเว้นรัสเซียซึ่งเป็นสมาชิก G-8 ที่เป็นชาติที่กำลังพัฒนา
- G-20 ยังคงยืนยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะชัดเจนจึงจะเริ่มดำเนินการกลยุทธออกจากมาตรการกระตุ้น
เศรษฐกิจ (Exit Strategies) ซึ่งคาดว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนหรือไม่
- การกำหนดกลยุทธในการออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า Exit Strategies นั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาซึ่งที่ประชุม G-20 ในครั้งนี้ได้กำหนดให้รัฐมนตรีการคลังของกลุ่มประเทศ G-20 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน (Financial StabilityBoard) ซึ่งประกอบไปด้วย
ธนาคารกลางของกลุ่ม G-20 และหน่วยงานที่กำกับกฎระเบียบของกลุ่ม G-20 รวมทั้งกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกG-20 ต้องส่งรายงานกลยุทธในการออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. 2552
โดยสิ่งที่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 กำหนดผลลัพธ์จากรายงานฉบับนี้คือ “กลยุทธร่วมกันในการออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติสมาชิก G-20
(Coordinated-Exit Strategies)”
ที่ครอบคลุมถึงขนาด(scale) เวลา (Timing) ลำดับการดำเนินกลยุทธออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Sequencing) ที่ต้องแตกต่างกัน
ตามความแตกต่างของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ภูมิภาค ที่เป็นสมาชิก G-20
โดยเป้าหมายเพื่อที่จะให้ Exit Strategies นั้นสร้างความน่าเชื่อ (credible) ความชัดเจน(clear) และสามารถคาดการณ์ได้ (expectations) ในอนาคต ต่อชุมชนเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่น (reinforce confidence)ต่อ Exit Strategies ที่ใช้
ทั้งนี้ มองว่าการให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นผู้ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนและมั่นคงนั้น อาจจะล่าช้ากว่าการฟื้นตัวที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลก เพราะเมื่อพิจารณาผลการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจรายประเทศในอดีตของ IMF นั้น พบว่า IMF ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจตามหลังการประเมินของตลาดมาโดยตลอด
แต่ ณ ปัจจุบัน มองว่าแม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวจากทางภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างมั่นคง (วัดได้จากอัตราการฟื้นอย่างต่อเนื่องของผลผลิตหรือการขยายตัวของ Real GDP ซึ่งต้องขยายตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ไตรมาส หรือสามารถพิจารณาได้จากการผลิตและอุปสงค์มวลรวมของแต่ละประเทศ อาทิ
การผลิตภาคเอกชน ซึ่งใช้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production:IP) และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index : PMI) การบริโภคภาคเอกชนซึ่งวัดจากดัชนีราคาขายปลีก Retail เป็นต้นนั้น เป็นดัชนีพิจารณาว่าจะต้องขยายตัวในอัตราที่สม่ำเสมออย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง) แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนหนึ่งปรับขึ้นไปมากกว่าปัจจัยพื้นฐานจนมีความวิตกกังวลว่าอาจจะเป็นภาวะฟองสบู่ทางสินทรัพย์ (Asset Price Bubble)
ดังนั้น คาดว่า กว่าที่ IMF จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนจากภาคเศรษฐกิจจริง ราคาสินทรัพย์ทางการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะอยู่ในภาวะฟองสบู่ และส่งผลมายังอัตราเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้น
ดังนั้น ถ้าธนาคารกลางต้องการที่จะดำเนินกลยุทธออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่ฟองสบู่จากราคาสินทรัพย์ได้ถูกส่งต่อไปยังระดับราคาสินค้าทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อแล้วนั้น ธนาคารกลางอาจจะต้องเร่งดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่สูงกว่าที่คาด
รวมทั้งในบางประเทศที่มีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายสินเชื่อเชิงปริมาณ (Quantitative Easing :QE) ธนาคารกลางจะต้องใช้มาตรการดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตรในวงเงินมหาศาล เป็นต้น การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตร จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้เร่งตัวขึ้นมาสูง
ขณะเดียวกัน ยัง ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในระดับหนึ่ง ถ้ามาตรการ Exit Strategies ดำเนินการช้าเกินไป มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกอาจจะพบกับภาวะชะลอตัว (Stagnation) ควบคู่ไปกับเงินเฟ้อที่สูง (Inflation) หรือที่เรียกว่า “Stagflation” อีกครั้ง