xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแนวโน้มดอกเบี้ยทะยานหลังทั่วโลกออกบอนด์ชดเชยดุลการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม G-20 ได้เสร็จสิ้นการประชุมเบื้องต้นในประเด็นว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเหตุที่การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมตกลงกันในวาระสำคัญก่อนที่จะนำเสนอให้ผู้นำประเทศกลุ่ม G-20 ตัดสินใจในการ ประชุมสุดยอดผู้นำโลกในวันที่ 2 เมษายน ณ กรุงลอนดอน ดังนั้น นัยยะจากที่ประชุมนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง
 ในการประชุมครั้งนี้แถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางโลกกลุ่มประเทศ G-20 นั้น เน้นไปที่การแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวเป็นหลัก เช่นการวางกฎระเบียบในการกำกับภาคการเงิน การกำหนดทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินในภาวะเศรษฐกิจดีและภาวะวิกฤติ การเพิ่มขนาดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาเช่นธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นต้น
 แต่ประเด็นสำคัญยิ่งต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลของกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อทดแทนอุปสงค์ภาคเอกเชนที่หดตัวลงอย่างเฉียบพลันตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมา โดยสหรัฐอเมริกาได้ทำการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ประเด็นดังกล่าวนี้ได้รับการขัดขวางโดยเยอรมนี และฝรั่งเศส

 ทั้งนี้ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินถึงมีความขัดแย้งในเรื่องการเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไม่สามารถที่จะอาศัยสหรัฐอเมริกาแต่เพียงลำพังในการแก้ไขปัญหาได้ แต่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันในการเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อทดแทนอุปสงค์ของภาคเอกชนที่หายไป การที่เยอรมนีและฝรั่งเศสลังเลที่จะเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เป็นผลมาจากการขาดดุลการคลังของ 2 ประเทศในปี 2552 ที่เกินเพดานสนธิสัญญามาสทริชต์ โดยภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมสกุลเงินยูโรนั้นจะขาดดุลการคลังได้ไม่เกิน -3.0 % ของ GDP ทว่า ในปี2552 ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสขาดดุลการคลังต่อ GDP ที่ -3.7 % และ -5.4 % ตามลำดับ การขาดดุลการคลังที่เกินเพดานในสนธิสัญญาจะนำมาซึ่งการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของเงินยูโรและอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะเผชิญปัญหาวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Crisis) นอกเหนือจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ (Economic Crisis) และวิกฤติสถาบันการเงิน (Banking Crisis)
 ขณะเดียวกัน ความเด็ดขาดของสหภาพยุโรปในเรื่องการระมัดระวังเรื่องการขาดดุลการคลังไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่นั้นจะเห็นได้จากการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อ 1 มีนาคม 2552 ที่ผู้นำยุโรปตัดสินใจลอยแพกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกให้เผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยไม่เพิ่มวงเงินช่วยเหลือตามการร้องขอของกลุ่ม
ผู้นำยุโรปตะวันออกแต่อย่างใด ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่แรงกดดันของสหรัฐอเมริกาในการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ได้รับการตอบสนองโดยเฉพาะจากเยอรมนีและฝรั่งเศสที่เป็นชาติสำคัญของสหภาพยุโรปและเป็นแกนหลักของสกุลเงินยูโร
 การเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้ยุโรปเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่การตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆทั่วโลก เพราะชาติอื่นๆย่อมคาดว่ายุโรปอาจจะโดยสารฟรี ( Free Rider) ในการอาศัยทรัพยากรของชาติอื่นในการลงทุนเพื่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยที่ยุโรปนั้นลงทุนโดยใช้ทรัพยากรของตนเองต่ำที่สุด ซึ่งความขัดแย้งและความล่าช้าในการเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก  อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกกลุ่ม G-20 มีความเป็นไปได้ที่เสียงเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาต่อยุโรปจะยังคงไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังมากต่อการประชุมสุดยอดกลุ่ม G-20 ว่าจะมีสัญญาณทางบวกในระยะสั้นและมีความเป็นไปได้มากว่าข้อตกลงที่จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมจะเป็นเรื่องระยะยาวโดยเฉพาะการกำหนดกฎกติกาเพื่อควบคุมภาคการเงินโลก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั่วโลก ซึ่งมีการวิเคราะห์ออกมาอย่างน่าสนใจ นั่นคือ วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของทั่วโลก (ณ วันที่ 6 มี.ค. 2552) อยู่ที่ 2.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 3.54% ของ World GDP ในปี 2552 สหรัฐฯใช้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด อยู่ที่ 35% ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก จีนเป็นชาติที่ใช้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกโดยอยู่ที่ 26% ยุโรป (Euro Area) และ ญี่ปุ่นอยู่ที่ 22 % และ 4 % ตามลำดับ
  IMF ระบุในรายงาน “ The Case for Global Fiscal Stimulus” ที่นำเสนอประกอบการประชุมผู้นำโลกกลุ่ม G-20 ที่ลอนดอนในวันที่ 2 เมษายน 2552 ว่าผลคูณทวีของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Multiplier Effects from Government Spending in Infrastructure) ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าการลดภาษี โดยในแบบจำลองของ IMF ได้ประเมินผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจะให้ผลคูณทวีถึง 3 เท่าของการลดภาษีหรืออีกนัยหนึ่งคือ เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้ในการลงทุนจะส่งบวกต่อเศรษฐกิจถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การลดภาษีโดยเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งบวก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
   ซึ่งหากนำค่าผลคูณทวีตามรายงานของ IMF ประเมินร่วมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของชาติเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นในปี 2552 จะเห็นว่าผลคูณทวีของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ณ 1.1 % ของ GDP จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงสุด ไม่เกิน 3.3 % เพราะในความเป็นจริงระบบเศรษฐกิจมีตัวรั่ว (Leakage) อาจจะทำให้การขยายตัวไม่ถึง 3.3 % แต่อย่างไรก็ตาม การถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติเอเชียยกเว้นจีนจะหดตัวลง ดังนั้น ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียนั้นหดตัวน้อยลงหรือในกรณีที่ดีที่สุดคือกลับมาขยายตัว
  ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่า เจตจำนงทางการเมือง (Political Will) เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นเสถียรภาพทางการเมืองและความแข็งแกร่งของรัฐบาลเป็นปัจจัยชี้ขาดในการบรรลุผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจีนจะเป็นชาติที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยจีนมีงบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 410,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 4.2% ของ GDP
  ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะสามารถช่วยชดเชยการหดตัวของการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนในการขยายตัวของ GDP จีนในระดับสูงคือประมาณ2.5-2.8 % ของการขยายตัวของ GDP จีนในแต่ละปี โดย SCRI ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2552 และ 2553 จะขยายตัวในกรอบ 6-7 % yoy แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2552 อาจต่ำกว่า 5.5 %
 ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น โดยผลสืบเนื่องจากการการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั่วโลกนั้น จะนำมาซึ่งการขาดดุลทางการคลัง  (เห็นได้จากตารางการขาดดุลการคลังของประเทศกลุ่มG-20)   ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 90 % ของ GDP โลก
  ดังนั้น ในกลางปี 2552 และ 2553 ประเทศต่างๆจะออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังซึ่งผลที่ตามมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลคือแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินนั้นมีแนวโน้มที่จะให้ทยอยปรับสูงขึ้น
  นอกจากนี้ การขาดดุลการคลังจำนวนมากเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พวกที่ให้พลังงานมนุษย์ (ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลืองน้ำตาล มันสำปะหลัง และกาแฟ) พลังงานเครื่องจักร (น้ำมัน) ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง (เหล็ก เหล็กกล้า พลาสติกจำพวก PVC ) ปรับราคาขึ้นก่อน (Fist Wave of Rising in Commodity Prices) และนำไปสู่การทยอยเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ เมื่อผนวกกับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศส่วนใหญ่ที่อ่อนค่าตามแนวโน้มการส่งออก การขาดดุลการคลังและที่สำคัญการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะทำให้การกลับมาของอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 มีความเป็นไปได้สูงขึ้น  จึงมีประเด็นที่น่าจับตามองในเรื่องผลกระทบของการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น