ตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกันยายน 2552 ที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงติดลบในระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งภาวะราคาสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับมาหดตัวสูงขึ้นในเดือนสิงหาคม สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดไปน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมีไม่มากนัก น่าจะสร้างความยืดหยุ่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะ1-2 ไตรมาสข้างหน้า *ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2552 ลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นอัตราที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าหากเทียบกับสิงหาคม (Month-on-Month) แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากผลของราคาสินค้าอาหารเป็นสำคัญ โดยแม้ว่าในเดือนนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 2 บาทต่อลิตรในเดือนสิงหาคม แต่ราคาสินค้าอาหารหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น
โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 จากเดือนสิงหาคม สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แม้ว่ายังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อย คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนสิงหาคม เป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และบริการส่วนบุคคล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำนี้ สอดคล้องกับสภาวะตลาดผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.7 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อจากนี้ คาดว่า แม้แรงกดดันต่อภาวะราคาในระยะสั้นยังมีไม่มากนัก แต่จากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมเริ่มกลับมาเป็นตัวเลขบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงมีภาพที่สร้างความกังวลถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ในด้านปัจจัยภายในประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศล่าสุดในเดือนสิงหาคมสะท้อนการฟื้นตัวที่ยังคงเปราะบาง โดยแม้ว่าเครื่องชี้ด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวสูงขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 4.4 ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 10.3 (จากร้อยละ 7.1 ในเดือนก่อน)
ขณะเดียวกัน ปริมาณการส่งออกในเดือนสิงหาคมก็ขยับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สำหรับปัจจัยในต่างประเทศ แม้ว่าล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ได้ปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เป็นหดตัวร้อยละ 1.1 ในปีนี้ และขยายตัวสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 3.1 ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 1.4 ในปีนี้ และจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศแกนหลักของโลกล่าสุด แม้ว่าสะท้อนให้เห็นทิศทางการฟื้นตัว
แต่ก็ยังมีสัญญาณที่น่ากังวล เช่น ตัวเลขการจ้างงาน โดยในการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ที่พิตสเบิร์ก ผู้นำชาติต่างๆ ก็เห็นพ้องกันที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมั่นคงแล้ว และจะไม่ย้อนกลับเข้าไปสู่ภาวะวิกฤตอีกในระยะอันใกล้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับมาเป็นบวกในเดือนตุลาคมแล้ว ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนถัดๆ ไปอาจขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยอาจไปแตะระดับร้อยละ 4 ในเดือนธันวาคม ซึ่งสาเหตุหลักเป็นปัจจัยทางเทคนิคของการคำนวณเงินเฟ้อ คือ การเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังอาจจะมีผลของราคาน้ำมันที่น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ลดลงมาค่อนข้างมาก
แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีไม่สูงนัก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป อุปสงค์ของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวในขอบเขตที่จำกัดนี้น่าจะทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้มาก ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังมีระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นดัชนีที่ธปท. มักใช้ในการติดตามเสถียรภาพราคา เพื่อกำหนดแนวทางของนโยบายการเงิน)
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปจนถึงสิ้นปี 2552 นี้ ขณะที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือร้อยละ 0.5 เล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งทิศทางดังกล่าวน่าจะยังคงเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปได้อย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2553
สำหรับภาพรวมตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบร้อยละ 0.4-0.9 ต่ำลงจากปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 โดยสาเหตุสำคัญที่มีผลทำให้เงินเฟ้อติดลบในปี 2552 ได้แก่ ผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน โครงการ 5 มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย นโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล โครงการ 5 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงาน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงถดถอย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะยังมีค่าเฉลี่ยทั้งปีเป็นบวกที่ร้อยละ 0.0-0.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธปท.ไปจนถึงปลายปี ขณะที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือร้อยละ 0.5 เล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 ซึ่งทิศทางดังกล่าวน่าจะยังคงเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปได้อย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 53 ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพราคาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศยังมีโจทย์ที่สำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง ขณะที่ต้องดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้พร้อมกันไปด้วย
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้ ที่สำคัญคือ สภาพอากาศที่มีฝนตกมากและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็อาจจะเผชิญปัจจัยในลักษณะเดียวกัน โดยเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็ประสบปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งสถานการณ์อาจรุนแรงมากกว่าไทยด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการนำเข้าของประเทศจีน ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ
ลงทุนอะไรชนะเงินเฟ้อ
คำถามที่สำคัญที่สุด ที่ผู้อ่านหลายคนคงคิดอยู่ในใจ เเล้วเราจะลงทุนอะไรดีให้ชนะเงินเฟ้อ คำตอบที่ได้กลับมาคือ ลงทุนสินทรัพย์ประเภทที่ส่วนทางกลับเงินเฟ้อ (Inflation hedging Asset) ได้เเก่สินค้าโภคภัณฑ์ Commodity ทั้งหลาย ไม่ว่าจะน้ำมัน ทองคำ โลหะมีค่า เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นการลงทุนอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในอนาคตอีกด้วย