xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีติดลบ 5มาตรการ6เดือน...ตัวแปรสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...จากการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบสูงขึ้น โดยเป็นตัวเลขลบติดต่อกันมาตลอด 6 เดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แม้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่จากการที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกลดลงอย่างมาก จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีอาจจะมีค่าเฉลี่ยติดลบ

ขณะที่ประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไป ที่สำคัญ ต้องจับตาการตัดสินใจของรัฐบาลในการขยายอายุ 5 มาตรการ 6 เดือน รวมทั้งเงื่อนไขในรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2552 ว่า...

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2552 ลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ยังคงติดลบสูงขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในเดือนพฤษภาคม และเป็นตัวเลขลบต่อเนื่องมาตลอด 6 เดือนแรกของปี 2552 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากผลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.9 ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม แต่ราคาสินค้าอาหารปรับตัวลดลง เนื่องจากสินค้าผักและผลไม้มีราคาต่ำลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายนลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นตัวเลขลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเป็นเดือนที่ 2 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.0-3.5 นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นอัตราติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างน้อยในรอบ 18 ปี (นับตั้งแต่มีข้อมูลรายเดือนที่รวบรวมไว้) อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ที่สำคัญเป็นผลมาจากราคาสินค้ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล ทั้งนี้ โดยภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเงินเฟ้อน่าจะมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้อีก หากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมั่นคง แต่คาดว่าช่วงราคาที่จะเพิ่มขึ้นอาจไม่รุนแรงเท่ากับในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ราคาปิด ณ สิ้นไตรมาสเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เป็นการเพิ่มขึ้นรายไตรมาสที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 (ค.ศ. 1990)

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบในบางช่วงขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 80-85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น โดยถ้าไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลให้กลไกในการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ราคาน้ำมันดีเซลในบางช่วงอาจขึ้นไปมีระดับสูงสุดที่ 30-32 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 27.39 บาทต่อลิตร

ตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตาอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อทิศทางเงินเฟ้อ นั่นคือการดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือ 5 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนกรกฏาคมนี้ โดยรัฐบาลคงจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการขยายระยะของมาตรการออกมาในไม่ช้า ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ขยายระยะเวลาของ 5 มาตรการดังกล่าวออกไป ก็อาจจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีสูงขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 1.5-2.5 (จากที่ลดลงร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งปีแรก) ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลขยายระยะเวลาของมาตรการต่อไปอีก 6 เดือน รวมทั้งหากมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก็จะมีผลเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมันไปจากปัจจุบัน

และนอกเหนือจาก 5 มาตรการ 6 เดือนแล้ว ยังมีประเด็นด้านนโยบายอื่นๆ ที่จะมีผลต่อราคาสินค้าด้วย เช่น แนวทางของรัฐบาลต่อการกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังจากวุฒิสภาไม่เห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2552 แต่หากสภาผู้แทนราษฎรยังคงผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวก็สามารถบังคับใช้ได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันไปแล้ว 2 บาทต่อลิตร แต่ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยลดภาระภาษีของประชาชน ซึ่งการทยอยลดภาระชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนที่เข้าไปดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น (ในส่วนที่ยังรับภาระอยู่บางส่วน) ก็จะมีผลต่อทิศทางราคาด้วยเช่นกัน

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจสร้างข้อจำกัดต่อการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ คือตลาดผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ เนื่องจากผลกระทบของปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และประชาชนมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมลดการออกไปจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมด้านการสังสรรค์ และสันทนาการ ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก ส่งผลให้ภาวะการบริโภคยังคงชะลอตัว ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้มากนัก แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาจมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อติดลบอาจคงอยู่ยาวนานออกไปกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยกว่าที่เงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อาจล่าช้าออกไปเป็นปลายไตรมาสที่ 3/2552 หรือต้นไตรมาสที่ 4/2552 จากเดิมที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนสิงหาคม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 ลงมาอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0-1.0 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 0.5-2.5 จากที่ติดลบร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งปีแรก

ซึ่งกรอบประมาณการที่กว้างนี้ มีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากปัจจัยในด้านมาตรการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีความชัดเจน สำหรับกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4-0.9 จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.0 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 นี้ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

สำหรับนัยที่มีต่อนโยบายการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลงลึกกว่าที่คาด และมีแนวโน้มที่ภาวะเงินเฟ้อติดลบจะคงอยู่ยาวนานกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเคลื่อนไหวอยู่นอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีปัจจัยผลักดันให้ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้ภายในไตรมาสที่ 3/2552 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะกลับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่าร้อยละ 3.5 ในช่วงปลายปี ดังนั้น การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 จึงไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น