xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดเงินเฟ้อทั้งปีมีโอกาสติดลบ จับตา 2 ตัวแปร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกร คาด เงินเฟ้อทั้งปีมีโอกาสติดลบ แนะจับตาท่าทีรัฐบาล ต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน และการเก็บภาษีน้ำมัน ตัวแปรสำคัญกำหนดทิศทางเงินเฟ้อ พร้อมคาดเงินเฟ้อ ยังอยู่ในกรอบของแบงก์ชาติ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกปี 2552 ติดลบร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง แม้จะมีปัจจัยหนุนให้ระดับราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น และทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้ อย่างไรก็ตาม ตลอดปีนี้ เงินเฟ้อมีโอกาสติดลบ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า ผลพวงจากทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น ต่อไปอีก หากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปลายไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาสที่ 4 จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเป็นช่วงกลางไตรมาสที่ 3

อย่างไรก็ตาม ขนาดของการขยายตัวจะมากหรือน้อยเพียงใด ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญในด้านมาตรการของรัฐที่ต้องติดตาม คือ การตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาใช้มาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยภายใต้ 5 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งจะมีผลถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 นี้

นอกจากนี้ ยังต้องรอข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งตัวแปรด้านมาตรการนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนภาพเงินเฟ้อมากพอสมควร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2552 ลงมาอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระดับร้อยละ 0.0-1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 0.5-2.5 จากที่ติดลบร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4-0.9 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 0.5-1.0 โดยลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

ทั้งนี้ คาดว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะอยู่ในภาวะติดลบยาวนานกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเคลื่อนไหวอยู่นอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร้อยละ 0.0-3.5 แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีปัจจัยผลักดันให้ค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้ภายในไตรมาสที่ 3

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะกลับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่าร้อยละ 3.5 ในช่วงปลายปี ความเป็นไปได้ของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.จึงน้อยลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังเป็นระดับที่ต่ำน่าจะสนับสนุนให้ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 นี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น