xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าใครหลายคนเริ่มกังวลกับราคาน้ำมันที่มีทีท่าว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ด้วยหลายๆปัจจัย ซึ่งทางนักลงทุนเองก็มีมุมมองคล้ายๆกันว่า เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันจะกลับมาเหมือนปีที่ผ่านมาเเล้วหรือไม่ถึงเเม้ว่าในช่วง6 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อจะติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ก็ตาม วันนี้ทีมงาน "ASTVผู้จัดการรายวัน" มีข้อมูลจากนักวิเคราะห์จากเเวดวงการลงทุนมาฝากเพื่อให้นักลงทุนได้คลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอนาคต...........

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า กระทรวงพาณิชย์จะประกาศอัตราเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายนต่ำลงในวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2552 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ -3.40% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ระดับ -0.32% ลดลงจากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ –3.34% และ -0.29% ตามลำดับ สาเหตุหลักสืบเนื่องจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปี 2551อยู่ในระดับสูง แท้จริงแล้วเราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับตัวขึ้น 1.04% และ 0.85% จากเดือนก่อน หลังราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex ปรับตัวขึ้นจากระดับ 57.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมเป็น 68.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเรียนฟรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างเช่นที่เกิดในเดือนพฤษภาคมที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลงแรงจากเดือนก่อนหน้า เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และคาดจะเห็นอัตราเงินเฟ้อปลายปีที่ระดับ 5% บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex ปลายปีที่ระดับราว 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวอาจถูกบิดเบือนไปได้เช่นกันหากรัฐบาลตัดสินใจต่ออายุมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมไปถึงปีหน้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ, การกู้เงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเป็นไปได้สูงที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 15 กรกฎาคม และช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนยังปรับตัวลงต่อ เนื่องจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภค CPI อยู่ในระดับสูงมาก คาดว่าดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (น้ำหนัก 33.0% ของดัชนีCPI) และหมวดขนส่ง (น้ำหนัก 22.3% ของดัชนี) จะปรับตัวลงจากระดับ 4.19% และ -15.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) ในเดือนพฤษภาคมเป็น 3.01% และ -15.54% yoy ในเดือนมิถุนายนตามลำดับ หลังราคาสินคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงอย่างหนักจากปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex (ปรับตัวลงจากระดับเฉลี่ยที่ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2551 เป็น 68.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2552) แท้จริงแล้วเราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับตัวขึ้น 1.04% และ 0.85% จากเดือนก่อนจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และจะไม่มีกระทบชั่วคราวจากมาตรการเรียนฟรีของรัฐบาลต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชนอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทำให้ดัชนีราคาในหมวดขนส่ง, หมวดเครื่องนุ่มหุ่มและรองเท้า (น้ำหนัก 3% ของดัชนี) และหมวดบันเทิง การอ่าน และการศึกษา (น้ำหนัก 5.2% ของดัชนี) ปรับตัวขึ้น 4.00%, 3.72% และ 11.4% จากเดือนก่อน ตามลำดับ

ขณะที่ กรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลอาจตัดสินใจต่ออายุมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อไปถึงปีหน้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงฝืดเคือง หากรัฐบาลตัดสินใจต่ออายุมาตรการดังกล่าวจริง เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปลายปีอาจต่ำกว่าประมาณการของเรา (คาดไว้ที่ระดับ 5%) อย่างน้อย 1%

คาดกนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม
สำหรับ กนง. ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนในแถลงการครั้งก่อนว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ถือว่า”เหมาะสม”ต่อ “อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย” แล้ว โดยเหตุผลหลักส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นเช่นกันหลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้การที่รัฐบาลจะมีการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินสูงถึง 8 แสนล้านบาทจะเป็นอีกปัจจัยที่มีผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น KELIVE จึงเชื่อว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ไปจนถึงสิ้นปีนี้

ไม่ห่วงราคาน้ำมันกดดันเงินเฟ้อ
ด้าน อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ไม่ได้เพิ่มแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และแม้ว่าราคาน้ำมันสูงถึง 80 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ที่มีบางฝ่ายคาดการณ์แต่เชื่อว่าไม่สูงเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.ค.ที่ระดับราคาน้ำมันดูไบสูงถึง 147 เหรียญต่อบาร์เรล จึงไม่น่าห่วงว่าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่าผลของมาตรการรัฐที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการ 6 เดือน 6 มาตรการ รวมถึงมาตรการให้เงินช่วยเหลือกับประชาชน ซึ่งจะช่วยชะลอไม่ให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงนับเป็นการแบ่งเบาค่าครองชีพของของประชาชนในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว จึงนับเป็นการช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น แนวคิดในการขยายเวลามาตรการช่วยค่าครองชีพออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าหากขยายมาตรการดังกล่าวแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งธปท.มองว่าในแง่ของต้นทุนเรื่อง 6 มาตรการใช้เม็ดเงินค่อนข้างน้อย หากจะขยายต่อไปสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ธปท.อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศ รวมทั้งการประเมินผลมาตรการของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ก.ค.นี้ จะประเมินในเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้นจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนก.ค.

ทั้งนี้รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเมษายน ธปท.ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552 จะเติบโตที่ระดับ -3.5% ถึง –1.5% นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบในกรณีเลวร้ายเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.9 เหรียญต่อบาร์เรล ในปีนี้ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ระดับ 51.8 เหรียญต่อบาร์เรล และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 53.9 เหรียญต่อบาร์เรล และ 54.2 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ –1% ถึง 1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0-1% อีกด้วย

มุมมองผู้จัดการกองทุน
สมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงตลาดตราสารหนี้เเละทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่า ที่ผ่านมาตลาดมีการคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจที่แสดงสัญญาณดีขึ้น ( Bottom out) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าลักษณะการฟื้นตัวจะยั่งยืนหรือไม่ จึงทำให้คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ย R/P 1 วัน ไว้ที่ 1.25% ต่อปี ซึ่งหากพิจารณาจาก ดีมาน์เเละซับพลายนับจากต้นปีที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ลดลง และเมื่อเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนจึงเริ่มหันกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง( Risky Asset) มากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในขณะเดียวกัน รัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณพันธบัตรเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรุ่นอายุไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้บริษัทปรับลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย โดยการทยอยลด portfolio Duration ตามจังหวะตลาดและเน้นลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนรวม (Total Return )ในระดับที่เหมาะสมพร้อมทั้งทยอยลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นที่ประเมินสถานะการเงินแล้วว่ามีความมั่นคงเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม ( Spread)

กำลังโหลดความคิดเห็น