xs
xsm
sm
md
lg

นักศศ.เชื่อเงินฝืดใกล้ยุติแม้ซีพีไอพ.ค.หด พร้อมเตือนรัฐบาลรับมือเงินเฟ้อรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค.ลดลง 1.5% โดยราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลง 1.7% ขณะที่ราคาอาหารลดลง 0.6%
เอเอฟพี/ บลูมเบิร์ก - ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคจีน (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นปรอทชี้วัดเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคมร่วงลง 1.4% ถือเป็นตัวเลขขาลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะผุดแผนกระตุ้นการใช้จ่ายไปบ้างแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อจีนใกล้พ้นภาวะเงินฝืดแล้ว แต่จะเดินเข้าสู่ความกดดันภาวะเงินเฟ้อแทน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานเผย ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.4% แต่เป็นอัตราการชะลอตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาซีพีไอจีนตกฮวบ 1.5%

ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องหลังจากรัฐบาลปักกิ่งพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาการส่งออกของจีนกำลังประสบปัญหาเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอันส่งผลให้ตลาดสำคัญในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป ชะลอแผนนำเข้าสินค้าจากจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีพีไอจะปรับลดลง แต่นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจจีนยังส่งสัญญาณฟื้นตัวอื่นๆ และความกดดันต่อภาวะเงินฝืดจะบรรเทาลงในไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเกา อี้ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์โอเรียนทัลเผยว่า "ซีพีไอต่ำกว่าที่เราคาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

นอกจากนี้ เกายังมองว่า “ความกดดันต่อภาวะเงินฝืดเริ่มบรรเทาเบาบางลง เนื่องจากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบและโลหะที่ไม่ใช่เหล็กปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลก คาดว่าความกดดันเรื่องภาวะเงินฝืดจะหมดไปในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น”

เช่นเดียวกับ ซุน หมิงชุน นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มองว่า ภาวะเงินฝืดใกล้ถึงกาลอวสาน และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในเดือนกันยายน

ในวันเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลข่าวสารแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ นำโดย ฟั่น เจี้ยนผิง ได้เขียนรายงานเตือนให้รัฐบาลจีนเตรียมปั้นนโยบายรับมือความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าภาวะ Stagflation ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจซบเซา ซึ่งอาจสะท้อนออกมาจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้ออาจเติบโตเร็วกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การที่ราคาสินค้าทั่วโลกเพิ่มและอุปทานเงินในประเทศจีนขยายตัวอาจผลักดันให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสูง รัฐบาลกลางควรปรับนโยบายการเงินจากมุ่งเน้นอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบก็ปรับให้เป็นกลางมากขึ้น หากเงินเฟ้อถีบตัวขึ้นสูงกว่า 3% ในขณะที่ตัวเลขจีดีพียังคงต่ำกว่า 9%

โดยเมื่อปี 2551 ธนาคารกลางได้ยกเลิกโควตาการปล่อยสินเชื่อและกระตุ้นธนาคารปล่อยกู้เพิ่มขึ้น ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวน (585,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุปทานเงินเพิ่มขึ้นทำลายสถิติ และการปล่อยเงินกู้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ก็พุ่งทะลุเป้าการปล่อยกู้ต่อปีของรัฐบาลไปแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัยยังมองว่า การฟื้นตัวของจีนอาจใช้เวลานาน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนและอุปสงค์การส่งออกยังอ่อนแรง การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุปทานเงินอาจกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี และเผชิญกับปัญหาการผลิตล้นเกินกระหน่ำซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น