เอเยนซี – ทางการจีนรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคหรือซีพีไอแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ร้อยละ 4.0 ในเดือนตุลาคม ลดลงจากร้อยละ 4.6 เมื่อเดือนก่อน ส่งผลให้ธนาคารกลางมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กรมสถิติจีนรายงานเมื่อวันอังคาร(11 พ.ย.) ว่า ดัชนีซีพีไอซึ่งเป็นปรอทชี้วัดอัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ในเดือนตุลาคม หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ในเดือนกันยายน เทียบกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.2 โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ซึ่งเน้นย้ำถึงแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอับดับสี่ของโลก
สำหรับราคาอาหารซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนของดัชนีราคาผู้บริโภคในจีนอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ลดลงจากร้อยละ 9.7 ในเดือนกันยายน
“แนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลจีนใช้นโยบายทางการเงินเชิงรุกได้มากขึ้นและคาดว่าไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ”จิง อุลริชนักเศรษฐศาสตร์แห่งเจพี มอร์แกน
ด้านทางการจีนได้เผยเมื่อวันจันทร์(10 พ.ย.)ว่าจะทุ่มงบประมาณ 4 ล้านล้านหยวน หรือร่วม 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระตุ้นความต้องการในประเทศ หลังจากยอดส่งออกและตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ขณะที่โจว เสี่ยวชวนผู้ว่าการธนาคารกลางจีนระบุเมื่อวันอาทิตย์(9 พ.ย.) ว่า ธนาคารอาจตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิม หลังจากที่ปรับลดดอกเบี้ยมา 3 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
“จุดประสงค์หลักของคณะกรรมการกำหนดนโยบายคือการป้องกันมิให้เศรษฐกิจทรุดหนัก ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนช่วยได้มาก ถึงกระนั้นธนาคารกลางก็ยังสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก” เฉิน ซิงตง นักเศรษฐศาสตร์จาก BNP Paribas ในปักกิ่ง กล่าว
ทั้งนี้จีนเริ่มต้นปีนี้ด้วยการควบคุมเงินเฟ้อเป็นภารกิจแรก แต่เนื่องจากแนวโน้มการหดตัวของดุลการค้าในปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นแนวนโยบายหลักของจีน บวกกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งประกาศมาในสัปดาห์นี้ จึงตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกังวลผลกระทบจากวิกฤตโลกที่มีผลต่อการเติบโตในประเทศ