xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจแดนมังกรเจ๋ง วิกฤตมะกันไม่สั่นคลอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มาตรการต่างๆ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเติบโตจะชะลอลงก็ตาม"

ช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจแดนมังกรขยายตัวอย่างมากจนถูกจับตามองในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกคนใหม่ ซึ่งการเติบโตนี้เป็นผลพ่วงจากการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิค ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจีนแล้ว ยังทำให้เกิดการลงทุนและสร้างงานในประเทศจำนวนมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันภาพเก่าๆ เริ่มจางหายไป เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังประสบภาวะถดถอย เพราะวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ลุกลามกลายเป็นวิกฤตภาคการเงินที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศจีนที่เหมือนจะสามารถยืนได้อย่างมั่นคงบนหอคอยงาช้างในช่วงแรกของสึนามิทางการเงิน แต่ตอนนี้ดูเหมือนยักษ์ใหญ่ประเทศดังกล่าวจะไม่สามารถหนีผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ปี 2551 โดยระบุว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ผ่านมาชะลอตัวเหลือตัวเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 9.0 ซึ่งถือเป็นอัตราขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่อัตราเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกก็ชะลอลงเหลือร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2550

โดยจีนกำลังเผชิญปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะวิกฤตภาคการเงินสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากขึ้นและลุกลามให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก จนทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งจีนต้องปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาธนาคารจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายระยะเวลา 1 ปี (Benchmark Interest Rate) ลง 2 ครั้งๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปรับลดดอกเบี้ยของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม ธนาคารกลางจีนยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีกด้วย

ขณะเดียวกันธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) ลง 2 ครั้งในเดือนกันยายน-ตุลาคม จะเห็นได้ว่าจีนได้ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้ภาคธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องปล่อยกู้มากขึ้นและช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจปรับลดลง ทำให้คาดว่าหลังจากนี้ทางการจีนคงจะออกมาตรการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังเนื่องจากดัชนีทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกต่างสะท้อนถึงภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

โดยการส่งออกของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 27 ส่วนการนำเข้าของจีนในเดือนกันยายนก็ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่อ่อนแรงลงตามภาคส่งออก ทำให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของจีนชะลอลงด้วย โดยการนำเข้าในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเติบโตร้อยละ 20.9 เทียบกับการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 30

ด้านภาคเศรษฐกิจภายในของจีนก็ประสบภาวะซบเซาเช่นกัน โดยในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนของจีนชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าลงมาเหลือร้อยละ 11.4 ซึ่งภาคส่งออกที่อ่อนแรงลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกชะลอลงตามไปด้วย โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในจีนลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนกันยายน ตามความต้องการจับจ่ายใช้สอยของคนจีนที่ลดลง เพราะภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่วนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างก็ชะลอลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแรงลง

"ผลจากวิกฤตการเงินโลกส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ในจีนเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยนักลงทุนต่างชาติต่างดึงเงินทุนกลับประเทศเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินที่ประสบปัญหาตึงตัวจากวิกฤตการเงินโลก จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียปรับลดลงอย่างหนัก ซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Composite Index) ของจีนตอนนี้ปรับลดลงราวร้อยละ 60.6 เมื่อเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งการปรับลดลงของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีนส่งผลให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนจีนปรับลดลง และทำให้การบริโภคและการลงทุนของนักลงทุนจีนชะลอลงด้วย"

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุต่อว่า การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 12.2 จนเหลือร้อยละ 9.0 ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ส่งผลกระทบต่อแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเอเชียและไทยด้วย เนื่องจากจีนถือได้ว่าเป็นโรงงานสำคัญของโลกและมีบทบาทสำคัญด้านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเอเชียเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง แล้วส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชีย ดังนั้นการที่ภาคเศรษฐกิจภายในของจีนอ่อนแรงลงทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนที่ชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งกระทบต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียและไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนต้องประสบปัญหาภาคส่งออกที่ชะลอลง

สำหรับประเทศไทยนั้น การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายนเติบโตชะลอลงเป็นเลขหลักเดียวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากในช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้ที่การส่งออกไปจีนเติบโตเป็นเลข 2 หลักมาตลอด โดยการส่งออกไปจีนที่ชะลอลงค่อนข้างมากในเดือนสิงหาคม-กันยายน ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ชะลอลงเหลือร้อยละ 22.37 ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 26.38

รายงานระบุต่อว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของจีนที่ชะลอลงทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต คาดว่าจะส่งผลให้ทางการจีนสามารถใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมาตรการด้านการคลังโดยใช้จ่ายเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมถึงนโยบายภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคส่งออกและกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแรงลง ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และหากพิจารณาเสถียรภาพด้านต่างประเทศของจีนถือว่า เศรษฐกิจจีนยังมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีเงินสำรองต่างประเทศสูงที่สุดในโลก โดยหนี้ต่างประเทศของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่จีนมีดุลงบประมาณที่เกินดุล ทำให้ทางการจีนสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวในขณะนี้ได้

นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการจีนคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 นี้ไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2551 น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 9.7 แม้ว่าจะชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 11.9 ในปี 2550 ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้ต่อเนื่องจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชียและไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ผ่านแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกไปจีน

"มาตรการต่างๆ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเติบโตจะชะลอลงก็ตาม และคาดว่าจะช่วยผลักดันภาคส่งออกของประเทศต่างๆ ในเอเชียและไทยให้เติบโตต่อเนื่อง ในภาวะที่ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรง"


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น