xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทายของธนาคารจีน หลังเศรษฐกิจมังกรชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – สำหรับธนาคารจีนที่เพิ่งจะจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไม่ถึง 3 ปีนั้น ช่วงเวลา“ผลกำไรเพิ่มเร็ว อัตราหนี้เน่าต่ำ” อันหอมหวานเช่นนี้อาจจะใกล้ผ่านไปแล้ว หลังจากที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนและผลกำไรวิสาหกิจนั้นได้ลดลง ซึ่งนั่นจะเป็นการทดสอบฝีมือการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย

เมื่อเร็วๆนี้ที่มีการทยอยประกาศรายได้จากหุ้นของธนาคารที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลก็คล้ายคลึงกับ 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตรากำไรสอดคล้องหรือสูงกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ โดยผลกำไรของธนาคารแต่ละแห่งเติบโตอยู่ที่มากกว่า 60%

ทว่าในเวลาเดียวกัน ขณะนี้หนี้เสียเองก็เริ่มแตกหน่อออกมา จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า ธนาคารจะสามารถเติบโตต่อไปท่ามกลางสภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ได้หรือไม่?

“ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว อัตราของหนี้เสียก็มักจะมีมากระดับหนึ่ง ผนวกกับเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มทางการเงิน และการที่ประชาชนเริ่มเปลี่ยนเงินฝากไปเป็นการลงทุนตรงมากขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อก็ถูกจำกัด นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้อัตราของหนี้เสียในอีก 2 ปีข้างหน้าดีดสะท้อนเพิ่มมากขึ้นแน่” อี๋ว์ เสี่ยวอี๋ หัวหน้านักวิเคราะห์การเงินจากบริษัทหลักทรัพย์กว่างฟาระบุ

และแม้ว่า ตัวเลขยอดรวมของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะลดลง ทว่าท่ามกลางตัวเลขนี้ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่เริ่มเปลี่ยนไป เช่นกับธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (ไอซีบีซี) กับ ซิติกแบงก์ ที่มีตัวเลขของการจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้พวกเราได้ตั้งเงินสำรองหนี้เสียเอาไว้สูง ทว่านั่นเป็นการตั้งภายใต้สถานการณ์ที่มีตัวเลขเอ็นพีแอลต่ำ แต่หากเศรษฐกิจทรุดลงอย่างรุนแรง ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถแบกรับปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะนับตั้งแต่จดทะเบียนสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว เราเองยังไม่เคยถูกทดสอบเช่นนี้มาก่อน” ผู้จัดการสาขาของธนาคารที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์

ธนาคารจีนได้พากันทยอยจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปี 2005-2007 ซึ่งถือว่าเป็นรอบเศรษฐกิจขาขึ้นของจีน ทว่าตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาถึง 4 ไตรมาส นอกจากนั้นใน 5 เดือนแรกของปีนี้บรรดาวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดก็มีอัตราเติบโตของผลกำไรอยู่ที่ 20.9% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมาก โดยเฉพาะธุรกิจอยู่บริเวณริมชายฝั่ง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถึงขั้นล้มละลายปิดกิจการกันไป

ในช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว การซบเซาของเศรษฐกิจจีนเคยก่อให้เกิดการหนีหนี้ของวิสาหกิจเป็นจำนวนมาก จนทำให้ยอดหนี้เสียของธนาคารพุ่งขึ้นสูง หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารจีนจากมณฑลเจียงซูชี้ว่า “ธนาคารควรจะดูจากประสบการณ์ในอดีต และเตรียมตัวล่วงหน้าในการดูแลคุณภาพสินเชื่อ จะต้องช่วยธุรกิจให้สามารถรีไฟแนนซ์ หรือหาจุดเติบโตใหม่ๆ และหามาตรการต่างๆที่จะลดผลกระทบอันเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัว”

การเติบโตที่จะเปลี่ยนไป

เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดได้คาดการณ์กันว่าอัตราการเติบโตของผลกำไรภาคธนาคารจะลดลงอย่างมากจนเหลือไม่ถึง 20% นายเจี่ยง เชาเหลียง ประธานกรรมการของธนาคารสื่อสารจีน (โบคอม) ได้เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “อัตราการเติบโตของผลกำไรธนาคารได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว จากนี้ไปคงจะเปลี่ยนเป็นการเติบโตแบบคงที่มากกว่า”

“รายได้หลักของธนาคารมาจากกลุ่มวิสาหกิจ เมื่อผลกำไรของวิสาหกิจลดลง นั่นย่อมเป็นการส่งสัญญาณว่าผลกำไรของธนาคารที่เคยพุ่งพรวดอาจจะไม่เหมือนเดิม เหมือนกับพระอาทิตย์ที่เลยเที่ยงไปแล้วย่อมค่อยๆลดความร้อนแรงลง”

ปัญหาดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธนาคารขนาดใหญ่ แต่กับธนาคารขนาดเล็กที่มีผลกำไรอยู่ในอัตราที่สูงกว่าธนาคารใหญ่นั้นอาจจะประสบปัญหาที่หนักกว่า คุณอี๋ว์ เสี่ยวอี๋ได้ระบุว่า “โดยปกติธนาคารขนาดใหญ่จะสามารถเลือกปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างมีคุณภาพ จึงมีการควบคุมหนี้เสียได้ดีกว่า ส่วนธนาคารเล็กนั้นจะมีกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก จึงมีความกดดันที่สูงกว่า”

ทั้งนี้เศรษฐกิจถดถอย อุปสงค์ภายนอกที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีของจีนเป็นอันดับแรก ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีในเมืองเวินโจว ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ธุรกิจเอกชนมีความคึกคักมากได้เปิดเผยว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 300,000 รายในเมือง ขณะนี้มีถึง 20% ที่กำลังอยู่ในภาวะระหว่างกลางของการจะปิดหรือไม่ปิดกิจการอยู่
ก่อนโอลิมปิก จีนได้ประกาศหันมากระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจ และได้ขยายเพดานปล่อยสินเชื่อของกลุ่มธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้อนุมัติแผนอัดฉีดสินเชื่อ 2 เท่าตัวแก่กลุ่มผู้ประกอบการราย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังเจ็งกันระนาวเนื่องจากภาวะส่งออกซบเซา และมาตรการคุมเข้มสินเชื่อสกัดเงินเฟ้อ.
กำลังโหลดความคิดเห็น