xs
xsm
sm
md
lg

ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน เงินตราแห่งยุคปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่ายฮุ่ยตุ้ยห้วนเจวี้ยน หรือเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่างประเทศ
ในยุคแรกของการปฏิรูปและเปิดประเทศ เหรินหมินปี้ หรือ เงินประชาชน ดูเหมือนจะเป็นเงินตราสำหรับประชาชนจีนเท่านั้นโดยแท้ เพราะในสังคมนานาชาติ เงินตราสกุลจีนแทบจะไม่มีค่าอะไร ถึงวันนี้ 30 ปีหลังการปฏิรูป จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯมากที่สุดในโลก และพร้อมจะผลักดัน เหรินหมินปี้ ให้เป็นเงินตราสากล

แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจไม่รู้ว่า ในช่วงแรกของการปฏิรูปเศรษฐกิจนั้น จีนเคยทดลองใช้ระบบเงินตราสองสกุล คือ เหรินหมินปี้ และ ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน

ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน หรือ ชื่อเต็ม คือ ว่ายฮุ่ยตุ้ยห้วนเจวี้ยน “外汇兑换券”แท้จริงแล้ว คือ เงินตราของจีนที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่างประเทศ โดยในวันที่ 1 เมษายน 1980 ธนาคารกลางจีนได้ออกธนบัตรชนิดหนึ่ง มีค่าและหน้าตาคล้ายกับเงินเหรินหมินปี้ โดยกำหนดให้ใช้เงินชนิดนี้เท่านั้นในการแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ดอลลาห์สหรัฐ เยนญี่ปุ่น ปอนด์สเตอริง เป็นต้น เท่ากับว่าในประเทศจีนมีการใช้เงินสองสกุล คือ เหรินหมินปี้ และ ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน

สำหรับการใช้สอยของว่ายฮุ่ยเจวี้ยนนั้น มีความพิเศษคือ หากแลกเงินสกุลต่างชาติเป็นเงินจีนจะได้รับเป็นว่ายฮุ่ยเจวี้ยน และในทางกลับกันหากต้องการแลกเงินจีนเป็นเงินสกุลต่างชาติก็ต้องใช้ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนมาแลกเท่านั้น

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ใช้ซื้อของที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยในยุคนั้นจะมีขายที่ “ห้างมิตรภาพ” รวมทั้งซื้อสินค้าที่ถูกจัดเป็นสินค้าควบคุม เช่น ทองคำ จักรเย็บผ้า จักรยาน ต้องใช้ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนเท่านั้น หรืออาจพูดได้ว่า ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน เป็นเงินที่ทางการจีนพิมพ์ออกมาให้ชาวต่างชาติใช้ในจีนโดยเฉพาะ

การที่ประเทศหนึ่งๆ มีเงินสองสกุลหมุนเวียนในตลาดถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับยุคปัจจุบัน แต่ในยุคนั้น จีนจำเป็นต้องมีเงินสองสกุลด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า เพื่อควบคุมการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน และเพื่อควบคุมการซื้อขายสินค้านำเข้า สินค้าขาดแคลน และสินค้าฟุ่มเฟือย ในลักษณะเดียวกับการใช้คูปองข้าว คูปองน้ำมัน

ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน มีการพิมพ์ออกมาสองครั้ง คือ ปี 1979 และ1988 มีเจ็ดมูลค่า คือ 100หยวน 50หยวน 10หยวน 5หยวน 1หยวน 5เจี่ยว และ1เจี่ยว โดยภาพด้านหน้าเป็นทิวทัศน์ในประเทศจีน พร้อมข้อความภาษาจีน “中国银行外汇兑换券”ส่วนด้านหลังระบุข้อความภาษาอังกฤษ “BANK OF CHINA FOREIGN EXCHANGE CERTIFICATE”และข้อความภาษาจีนว่า “ธนบัตรนี้มีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินเหรินหมินปี้ จำกัดการใช้เฉพาะในอาณาเขตประเทศจีน ไม่รับประกันการสูญหาย”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่ายฮุ่ยเจวี้ยน มีความพิเศษกว่าเหรินหมินปี้ การกำหนดว่าเงินสองอย่างนี้มีค่าเท่ากันจึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะชาวจีนจำนวนมากต่างต้องการว่ายฮุ่ยเจวี้ยนมากกว่าเหรินหมินปี้ ตัวอย่างเช่น

หากท่านไปทานอาหารในภัตตาคารหรือพักในโรงแรมชั้นสูง หากท่านจ่ายเป็นว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ท่านจะได้รับบริการดีเยี่ยม พูดอีกอย่าง คือ เหรินหมินปี้ ซื้อได้ก็แต่บริการชั้นสองเท่านั้น หรือแม้แต่คนขับแท็กซี่ในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หากผู้โดยสารชาวต่างชาติจ่ายแบงก์ที่ไม่ใช่ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนละก้อ พวกเขาจะหน้างอทีเดียว

ชาวต่างชาติหลายคนจึงรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เช่น บางครั้งเมื่อนำเงินสกุลต่างชาติมาแลก เจ้าหน้าที่กลับนำเงินเหรินมาปี้มาให้ โดยอ้างว่าว่ายฮุ่ยเจวี้ยนหมด หรือเมื่อพวกเขาซื้อสินค้าด้วยว่ายฮุ่ยเจวี้ยนแต่กลับได้เงินทอนเป็นเหรินหมินปี้ เป็นต้น

ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน จึงกลายเป็น “เงินหอม” สำหรับชาวจีน กฎที่บอกว่าว่ายฮุ่ยเจวี้ยนมีค่าเท่ากับเหรินหมินปี้จึงเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรที่ไร้ค่า เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงนั้น ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนมีค่าสูงกว่าเหรินหมินปี้ เช่น ในช่วงปี 1993 ที่เศรษฐกิจจีนกำลังทะยานหลังการเปิดประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเหรินหมินปี้อยู่ที่ 3 บาท แต่ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนอยู่ที่ 5-6 บาท แต่หากย้อนไปในช่วงที่จีนต้องการเงินตราต่างประเทศมาก เช่น หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 อัตราแลกเปลี่ยนเหรินหมินปี้ อยู่ที่ 5-6 บาท แต่ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนอยู่ที่ 15-20 บาท ดังนั้น ชาวต่างชาติจึงซื้อของแพงกว่าคนจีนโดยปริยาย

สำหรับนักลงทุนที่มาเปิดโรงงานในจีนนั้น สามารถใช้แบงก์ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานได้ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยแล้ว การได้เงินเดือนเป็นแบงก์ว่ายฮุ่ยเจวี้ยนในอัตราที่แน่นอน นับเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับพนักงาน การจ่ายเงินเดือนด้วยว่ายฮุ่ยเจวี้ยนถือว่าเป็นการให้รางวัล มักจะแบ่งสันปันส่วนกันตามตำแหน่ง ระดับบิ๊กๆก็ได้มาก ระดับเล็กๆก็ได้น้อย

ปัญหาการมีอัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีน และยังทำให้เกิดตลาดมืดมากมาย นักลงทุนต่างชาติก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทำให้ธนาคารจีนต้องประกาศยกเลิกการใช้ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ในวันที่ 1 มกราคม 1995 ปิดฉากการใช้ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ที่นานถึง 15 ปี

ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน คือ ตัวแทนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนแบบ “คลำหินข้ามลำธาร” ที่อาจต้องลองผิดลองถูกบ้าง แต่นั่นก็คือบทเรียนอันมีค่า ที่ทำให้จีนสามารถบริหารนโยบายเงินหยวนฝ่าฝันวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้หลายครั้ง วันนี้ ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ก็กลายเป็นเพียงของสะสม ที่แม้แต่เด็กจีนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รู้จักหน้าค่าตาด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับ บัตรปันส่วนข้าว บัตรปันส่วนฝ้าย หรือบัตรปันส่วนน้ำมัน
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาหนึ่งหยวน
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาหนึ่งหยวน (ด้านหลัง)
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาห้าหยวน
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาห้าหยวน(ด้านหลัง)
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาห้าสิบหยวน
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาหนึ่งร้อยหยวน
ว่ายฮุ่ยเจวี้ยน ราคาหนึ่งร้อนหยวน (ด้านหลัง)
กำลังโหลดความคิดเห็น