xs
xsm
sm
md
lg

เฟดรับซื้อพันธบัตร หวังพลิกฟื้นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เฟต อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังมาตรการดอกเบี้ยต่ำติดดิน ยอมเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ หวังอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน พลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 ด้วยการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือไปจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ตามเดิมแล้ว เฟดได้ประกาศมาตรการเชิงปริมาณ (ในทิศทางที่สอดคล้องกับการดำเนินการของธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์) เพิ่มเติมเพื่อช่วยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ การขยายวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองเป็น 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (จาก 5.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ) และเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นวงเงินใหม่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ (จาก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ)

ท่าทีที่สะท้อนความจริงจังในการแก้ไขภาวะความตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองและพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ของเฟดในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวเชิงบวกที่ได้รับการตอบรับจากตลาดการเงินอย่างกว้างขวาง โดยภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของการเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน (จากการขยายงบดุลของเฟด) เพื่อพลิกฟื้นกลไกการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อประกอบเข้ากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทีมบริหารของทำเนียบขาวนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นคืนกลับมาบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (กิจกรรมภาคการผลิตที่ยังคงหดตัว ความไม่ชัดเจนของสัญญาณเสถียรภาพในตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่ อัตราการว่างงานที่ยังคงมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากระดับ 8.1% ในปัจจุบัน) นั้น ยังคงต้องการความต่อเนื่องของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเชิงปริมาณ นอกเหนือไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำใกล้ 0%

ทั้งนี้ ในระยะสั้น คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ข่าวในเชิงบวกของมาตรการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขสภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินการเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่อาจทยอยเปิดเผยรายละเอียดในช่วงระยะถัดไปนั้น อาจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ความต้องการเสี่ยงฟื้นกลับคืนมาสู่ตลาดหุ้น แต่ก็อาจส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการความชัดเจนก่อนที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้ผ่านพ้นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยประสิทธิผลของมาตรการของทางการสหรัฐฯ และเฟด อาจถูกประเมินผลจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่จะทยอยถูกเปิดเผยออกมาในระยะถัดไป โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และราคาที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ ซึ่งหากความคาดหวังในเชิงบวกยังไม่ถูกยืนยันด้วยความชัดเจนของแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจกลับมาได้รับแรงหนุนจากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนระลอกใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เนื่องจากการขยายงบดุลของเฟดผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ในรอบนี้ มีความแตกต่างไปจากการเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วง 40 ปีก่อนหน้า (ช่วง ค.ศ. 1961-1965) ที่ปริมาณเงินในระบบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (มีการ Sterilization) เพราะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวและขายพันธบัตรระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของเฟดในรอบนี้ อาจจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบเพื่อเอื้อต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ

ดังนั้น สิ่งที่ยังต้องติดตามก็คือ แนวโน้มเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาพคล่อง/ปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขยายขนาดงบดุลของเฟด และการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวอาจจะกลายมาเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับเฟดในการใช้งบดุลของตนเพื่อสนับสนุนตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เฟดอาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจสามารถสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น ขณะที่ เฟดอาจจะต้องเตรียมกระบวนการถอยออกจากมาตรการขั้นพิเศษเชิงปริมาณดังกล่าวทันทีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น