xs
xsm
sm
md
lg

บอนด์ตลาดเกิดใหม่ ความน่าลงทุนที่มาพร้อมกับศก.ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะซบเซาของตลาดตราสารหนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปี 2551 ซึ่งชะลอตัวลงไปจนถึงจุดต่ำสุดในเดือนตุลาคม 2551 นั้น ดูเหมือนจะเป็นภาพที่ลบเลือนไปจากความทรงจำเมื่อเข้าสู่ปี 2552 เพราะปรากฏว่าตลาดตราสารหนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่ กลับฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งและกลายเป็นตลาดที่โดดเด่นอีกครั้ง

เป็นที่น่าสงสัยว่า การที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเป็นเครื่องแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงหรือไม่ และเราควรจะเชื่อหรือไม่ว่าสัญญาณของการฟื้นตัวนั้น จะเป็นแรงหนุนสำหรับหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หรือความจริงเป็นแค่การปรับตัวขึ้นในระยะสั้น ในระหว่างการตกต่ำระยะยาวของตลาด (ตลาดหมี)  ซึ่งทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เลิกอิงกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  จนกลายเป็นปัจจัยที่หนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นภายหลังปี 2551  แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นอาจจะยังไม่ใช่ทั้งสองกรณี

 
ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ทาง กลุ่มอเบอร์ดีน มองว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาดัชนีหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสามารถปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการด้านเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ เช่น โครงการรับซื้อทรัพย์สินที่ขาดสภาพคล่องจากธนาคารต่างๆ  การริเริ่มนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และการทดสอบความแข็งแกร่งทางการเงินของภาคธนาคารในสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G-20  ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยการเพิ่มเงินทุนให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศอีก 7.50 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากขึ้นเป็นสามเท่า เพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการให้กู้ยืมแก่ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่  รวมถึงการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เปิดเผยว่าวงเงินกู้ใหม่ที่ต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติไม่กี่ขั้นตอนมีเป้าหมายที่จะปล่อยกู้ให้แก่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่มีปัญหาจากค่าเงินของตนที่อ่อนค่าลงมาก 

ดังนั้น  เกณฑ์การปล่อยกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นปัจจัยบวกแก่พันธบัตรของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วย
 โดยการลดความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดการชำระหนี้ในบางประเทศ เช่น ยูเครน ซึ่งดัชนีพันธบัตรยูเครนเป็นผู้นำที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไม่น่าสงสัย ในส่วนของประสิทธิภาพของมาตรการจากภาครัฐที่ออกมานี้ยังไม่มีความแน่นอน

 แต่หากพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ก็จะพบว่า มาตรการเหล่านี้สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นได้บ้างว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในทุกทาง แต่อย่างไรก็ตาม เรายังต้องติดตามดูสัญญาณการฟื้นตัวให้ปรากฏชัดขึ้นกว่านี้

 ขณะเดียวกัน ยังมองว่า ตลาดให้ค่าระดับความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้มากเกินไปในประเทศ เช่น เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา และยูเครน  ส่วนพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินท้องถิ่นยังมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า อาจมีปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นของค่าเงินท้องถิ่นในช่วงที่นักลงทุนกลับมารับความเสี่ยงได้มากขึ้นและลงทุนมากขึ้น
 ความเสี่ยงของตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ใด

 จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตลาดยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง จากการปรับฐานราคาแบบเบาๆในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จะไม่ทรุดลงรุนแรงเท่าในปี 2551  ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไถ่ถอนสินเชื่อที่นำไปลงทุนในตลาดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการล่มสลายของกองทุนเก็งกำไรที่ลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางกอง 

 โดยเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงพูดได้อย่างมั่นใจว่าตราสารหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะไม่ประสบกับภาวะตกต่ำเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551  ปัจจัยที่จะนำไปสู่การปรับฐานของราคาตราสารหนี้น่าจะได้แก่ปัจจัยดังต่อไปนี้

การปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดแรงเทขายอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งยังส่งผลกดดันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯให้ทรุดลงมากขึ้นด้วย
 การปรับตัวขึ้นของราคาโภคภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  

การลดค่าเงินของประเทศลัตเวีย ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนของค่าเงินท้องถิ่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยุโรป ซึ่งสร้างความวิตกเกี่ยวกับสถานะของธนาคารในเขตเศรษฐกิจยุโรปและปัญหาเศรษฐกิจและการลดลงอย่างไม่คาดการณ์มาก่อนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะยืดเยื้อของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน

 ดังนั้น ทาง อเบอร์ดีนยังไม่เชื่อในสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด และมองว่าการปรับขึ้นชั่วคราวในช่วงตลาดตกต่ำ (ตลาดหมี) จะอยู่ได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม  ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังปรับตัวในทิศทางที่ต่ำกว่าเกณฑ์เช่นนี้ เห็นได้ว่าดัชนีตราสารหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นได้ดี ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้ที่แข็งแกร่งขึ้น

 ในช่วงทศวรรษที่แล้ว ที่การลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วโดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ได้ใช้นโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมกับตน ในเวลาเดียวกัน การสร้างหนี้ภายนอกประเทศได้ลดลงมาอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันยังไร้แรงกดดัน ไม่เหมือนในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เช่นในปี 2537 2540 และ 2544

...ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน แนวโน้มการเจริญเติบโตอาจจะไม่สดใสสำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยังมีปัญหางบประมาณที่ยังเป็นเรื่องน่ากังวลแต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลับมีเหตุผลที่จะออกจากช่วงวิกฤตด้วยเสถียรภาพที่ดีกว่า เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ถ่วงดุลไปทางกลุ่มตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น