xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต “สินเชื่อเคหะสหรัฐฯ”ทำจีนอ่วม ซ้ำเติมปัญหาพันธบัตร-ดอลลาร์เสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาวิกฤตสินเชื่อเคหะ การอ่อนค่าของดอลลาร์ และพันธบัตรสหรัฐฯกำลังส่งปัญหาให้กับประเทศในเอเชียจำนวนมาก
เอเยนซี – ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯระบุจีนเป็นผู้ถือครองตราสารหนี้ของสถาบันประกันสินเชื่อเคหะทั้ง 2 ที่กำลังประสบปัญหาของสหรัฐมากที่สุดในต่างประเทศ รวมถึงปัญหาพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์กำลังอ่อนค่า ทำให้จีนที่ถือพันธบัตรสหรัฐฯและตราสารหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลสหรัฐฯรวมแล้วกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย

หลังคำประกาศอย่างขึงขังของกระทรวงการคลัง และธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่จะออกมาตรการที่จะเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับ แฟนนี เม (Fannie Mae) และเฟรดดี แมค (Freddie Mac) จากระดับปัจจุบันที่ 2,250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อองค์กร พร้อมทั้งประกาศซื้อหุ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานะการเงินของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค หากมีความจำเป็น รวมถึงเสนอให้ทั้ง 2 สถาบันประกันสินเชื่อ กู้ยืมเงินโดยตรงจากธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด )ได้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดียวกับที่เรียกเก็บจากธนาคารอื่น ๆ หรืออิงดอกเบี้ยเฟด ฟันส์ที่ระดับ 2%

ทางนิตยสารการเงินอย่าง “ไฉจิง” ของจีนก็ได้วิเคราะห์ว่า สิ่งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณว่า จำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศมหาศาลของจีน ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงอันเกิดจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังจะต้องเจอกับความเสียหายอันเกิดจากการที่พันธบัตรสหรัฐฯและตราสารหนี้ของสถาบันการเงินสหรัฐฯที่กำลังด้อยค่าลงด้วย

ปัญหาสถาบันสินเชื่อเพื่อการเคหะรายใหญ่ 2 แห่งในสหรัฐ คือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ผู้เป็นเจ้าของและให้การรับประกันอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐทั้งหมด กำลังลุกลามบานปลายออกไป จนทำให้ลูกหนี้สหรัฐฯยอมถูกยึดบ้าน เฉลี่ยวันละ 8,000-9,000 ราย และทำให้ปัญหาขยายวงไปทั่วโลก เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีน ที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐ และตราสารหนี้ของทั้ง 2 สถาบันนี้ จำนวนมาก

ตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้เปิดเผยออกมานั้น สถาบันสินเชื่อทั้ง 2 มีการปล่อยตราสารหนี้สู่ต่างประเทศทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศที่มีการถือตราสารหนี้ของสถาบันสินเชื่อทั้ง 2 แห่งมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนตราสารหนี้บริษัททั้งสิ้น 376,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นตามมาเป็นอันดับ 2

จีนไม่เพียงได้ถือครองตราสารหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ (Government-Sponsored Enterprise – GSE) เฉยๆ แต่ในช่วงก่อนหน้านี้การถือครองตราสารหนี้ยังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นับจากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาย้อนไป 12 เดือน ตราสารหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้การอุปถัมภ์ของสหรัฐฯนั้นเพิ่มขึ้นถึง 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26%

นักเศรษฐศาสตร์จากสมาคมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ระบุว่า จีนได้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯอย่างน้อย 502,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อบวกกับตราสารหนี้ GSE ก็จะมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือแม้แต่จีนเองก็คงไม่ยอมให้สถาบันการเงินทั้ง 2 ของสหรัฐฯล้มลง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นก็มองสาเหตุนี้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯออกมาประกาศมาตรการ “อุ้ม” อย่างเร่งด่วน

ดังนั้นหากสหรัฐฯสามารถหามาตรการที่จะลดความเสี่ยงอันเกิดจากสินเชื่อเคหะและพันธบัตรสหรัฐฯได้ จีนก็จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้อานิสงส์อย่างยิ่ง นอกจากนั้นหากมาตรการที่จะสนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์ ที่ทางสหรัฐฯวางแผนจะทำนั้นผลักดันให้เป็นจริงได้ แรงกดดันการแข็งค่าของเงินหยวนก็จะได้รับการผ่อนเพลาลง

ด้านเอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัลก็ได้ตีพิมพ์สิ่งที่เซี่ย กั๋วจงนักวิเคราะห์เศรษฐกิจฮ่องกงได้เปิดเผยว่า “การที่รัฐบาลสหรัฐฯออกโรงช่วยเหลือสถาบันทั้ง 2 อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อธนาคารกลางในเอเชียและสถานบันการเงินที่ถือพันธบัตรสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ปัญหาสินเชื่อเคหะจากสถาบันประกันสินเชื่อกู้ยืมเงินทั้ง 2 ได้สร้างความกังวลในแวดวงการเงินและตลาดหลักทรัพย์ไปทั่ว ทว่า 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการประกันภัยของจีนอย่างไชน่า ไลฟ์ อินชัวรันซ์ กับผิงอัน อินชัวรันซ์ก็ได้ออกมาประกาศใกล้ๆกันว่าทางบริษัทของตนไม่ได้ถือสินทรัพย์ทางการเงินใดใดของแฟนนี เม และเฟรดดี แมคแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ถือครองพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อเคหะหนุนหลังของแฟนนี เมและเฟรดดี แมค เป็นมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกสำคัญของหลายประเทศในเอเชีย ดังนั้นหากปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯทวีความเลวร้ายไปอีก ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรอบด้าน และจะเกิดเป็นผลเสียอันเลวร้ายกับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในเอเชียด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น