xs
xsm
sm
md
lg

ปี52ดอกเบี้ยไทยอาจแค่3.0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่ "เฟด" และ "อีซีบี" ร่วมกับธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ตัดสินใจลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% ซึ่งเเถลงการณ์ร่วมของ 6 ธนาคารกลางข้างต้นระบุว่า วิกฤตการเงินที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงขาลงต่ออัตราการขยายตัว และจำกัดความเสี่ยงขาขึ้นที่มีต่อเสถียรภาพราคา ดังนั้น การบรรเทาสถานการณ์การเงินทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.27% ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้ลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ขานรับความเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติเหล่านี้เช่นกัน

โดยการตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หรือ ดอกเบี้ยอ้างอิง (benchmark rate) ของเฟดปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5% ขณะที่ อีซีบี ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.75% ธนาคารกลางแคนาดาลงมาอยู่ที่ 2.5% ธนาคารกลางอังกฤษขยับลงมาอยู่ที่ 4.5% และธนาคารกลางสวีเดนลงมาอยู่ที่ 4.25%ส่วนอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางจีน ที่ถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่สองในรอบ 3 สัปดาห์ทำให้ลดลงมาอยู่ที่ 6.93% นอกจากนี้ เฟดยังได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ลงอีก 0.5% มาอยู่ที่ 1.75%

อย่างไรก็ตาม "เฮนรี พอลสัน"รมว.คลัง สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าน่าจะมีธนาคารในสหรัฐอีกหลายเเห่งล้มละลายเเละยังยอมรับว่ามาตรการ 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่อาจดูแลสถาบันการเงินได้ทุกเเห่ง ซึ่งข่าวนี้ได้ส่งผลกระทบให้ต่อตลาดหุ้นของสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังอังกฤษได้ประกาศแผนอัดฉีดเงินอย่างน้อย 50,000 ล้านปอนด์ เพื่อนำไปดำเนินมาตรการป้องกันการล่มสลายของระบบธนาคารท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารเเละสถาบันการเงินล้มกิจการอย่างเช่นวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองลุงแซมที่ผ่านมา

ส่วนประเทศไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยตามเดิมที่ 3.75% เรื่องนี้ใครต่อใครก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าควรปรับลดลงให้เท่ากับเฟด เช่นเดียวกับเสียงต่อต้านที่พึงพอใจกับกนง.ในการคงอัตราดอกเบี้ย แต่ในส่วนของผู้จัดการกองทุนรวมจะมองเรื่องดังกล่าวอย่างไร นักลงทุนที่ฝากเงินไว้ในบลจ.ต่างๆย่อมต้องการรับทราบ วันนี้เลยถือเป็นโอกาสดีที่จะขอนำมุมมองของฟันด์ แมเนเจอร์บางท่านมานำเสนอแก่ผู้อ่านทุกคน

อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือเอวายเอฟ กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีการประชุมกันไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ทางกนง.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 3.75% หลายฝ่ายมองไว้ว่าการประชุมที่ผ่านมาน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากเห็นเเนวโน้มว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง ราคาน้ำมัน เเละอัตราเงินเฟ้อก็ลดลง ประกอบกับตัวเลขGDP ของไทยก็ปรับลดลงเช่นกัน

ขณะที่การประชุมเมื่อครั้งล่าสุด นักวิเคราะห์คาดไว้ว่ากนง.น่าปรับลดดอกเบี้ยลงหรือไม่ก็น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้อีกเช่นกัน เพราะกนง.คงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงขณะที่เมื่อคราวที่เเล้วได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไป โดยเราเชื่อว่าการประชุมที่มีขึ้นคราวหน้าทางกนง.น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงตามสถานการณ์โลก ที่พากันปรับลดเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในสภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าหรือเเข็งค่าขึ้นนั้นคงคาดการณ์ได้ยาก เพราะสหรัฐจะเทรดเงินดอลลาร์ พร้อมกับเทรดกับน้ำมันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม อยากเเนะนำให้นักลงทุนด้วยความระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุน เเละการลงทุนนั้นต้องมีสภาพคล่องสูงด้วยในสภาวะเช่นนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เเต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนต้องเกรงกลัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกินไป ซึ่งขึ้นอยู่ว่านักลงทุนรับความเสี่ยงได้มากน้อยเเค่ไหนนั่นเอง

ด้านบริษัทหลักทรัพย์(บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ากนง. ประกาศตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แม้เราจะหวังให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ก็ตาม โดยใจความสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนว่าเป้าหมายของแบงก์ชาติได้เปลี่ยนจากการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อมาสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวแทน

การปรับเป้าหมายครั้งนี้ได้บ่งชี้ว่านโยบายการเงินจะผ่อนคลายลงและมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 3 ธันวาคม เนื่องจากวิกฤตการเงินได้ลุกลามไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้ ดังนั้นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงไม่สามารถทนนั่งดูอยู่เฉยๆ ได้อีกต่อไป หลังจากที่ดัชนีตลาดปรับตัวลงกว่า 36.37 จุด หรือ 6.88% (วันที่8ต.ค.) โดยคำแถลงการณ์ของ กนง. ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนเหมือนเดิมทุกครั้งว่า "กนง.จะเฝ้าติดตามความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะกำหนดนโยบายการเงินที่มีความเหมาะสม หากเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงจากภาวะปัจจุบันจากผลกระทบของวิกฤตดังกล่าว"

เราได้ถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยได้ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่ตอนนี้หลังจากที่ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ความคาดหวังที่จะเห็นการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ดูจะเลือนรางเต็มที ขณะที่สถานการณ์ปัญหาการเมืองที่เลวร้ายลงอีกครั้งจะยิ่งไปฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดำดิ่งลงไปอีก แม้จะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้เราได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551และปี 2552 ลงเหลือ 5% และ 4% ตามลำดับ จากการที่วิกฤตการเงินลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนว่าประมาณการอันนี้ของเราดูจะมองโลกในแง่ดีเกินไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวลงมาเร็วมากเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยปรับตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 140 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม เหลือเพียง 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในขณะนี้ ทำให้เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอ่อนตัวลงมาสู่ระดับ 4.80% และ 2.09% ตามลำดับ ณ สิ้นปี จากระดับสูงสุดที่ 9.21% และ 3.69% ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตามประมาณการนี้อาจดูล้าสมัยหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาต่ำกว่าสมมติฐานที่ระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล รวมทั้งอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลงมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก

บล.กิมเอ็ง ระบุว่า ตั้งแต่สิ้นเดือนที่แล้ว เส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 2 ปีได้ปรับตัวลงมากว่า 0.22% - 0.26% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนธันวาคม อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโยกย้ายเงินทุนไปยังแหล่งที่ปลอดภัยกว่า หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหนัก รวมถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญา

สิ่งนี้อธิบายสถานการณ์ที่ค่อนข้างแปลกในปัจจุบันที่อัตราผลตอบแทนในการแลกอัตราดอกเบี้ย (swap yield) ปรับตัวลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเราสามารถตีความต่อไปได้ว่าการที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนในการแลกอัตราดอกเบี้ย (swap spread) ติดลบย่อมบ่งชี้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะชันลงไปอีกในอนาคต

ทั้งนี้ บล.กิมเอ็ง ประเมินว่าการที่ กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม เพราะคิดว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในตอนนี้ หลังธนาคารกลางในซีกโลกตะวันตกส่วนใหญ่ (สหรัฐฯ, แคนนาดา, EU, สวิสเซอร์แลนด์, สวีเดน) ต่างร่วมมือกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ

ประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากคือ ผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลกที่จะส่งผลกระทบต่อแผนการของรัฐบาลเพื่อกู้เงินอย่างน้อยส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ แม้ว่า กนง. จะไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะระมัดระวังมากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เร็วเกินไปซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องอีก

ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำนายว่าวิกฤตการเงินรอบนี้และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจะรุนแรงและยาวนานเพียงใด อย่างไรก็ตามเราคาดว่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% ในปีหน้า หลังจากการปรับลด 0.25% ในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.00% ณ สิ้นปี 2552

กำลังโหลดความคิดเห็น