xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณไตรมาส 2 ชัดเจนเวียดนามฟังธงเศรษฐกิจฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพี 26 ก.พ.2552 เวียดนามเปิดโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ โรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat) ใน จ.กว๋างหงาย (Quang Nghai) ช่วยลดการขาดดุลการค้าลงอย่างเห็นผล เวียดนามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปน้อยลง  </FONT></br>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในเวียดนามและต่างประเทศ เคยพยากรณ์เอาไว้ว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้จะฟื้นจากภาวะซบเซาก่อนประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ สัญญาณต่างๆ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อาจจะบ่งบอกว่าเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ แล้วในไตรมาสที่ 2

ตัวเลขส่งออกกระเตื้องขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 5 ปี การนำเข้าเพิ่มทวีทำให้ขาดดุลการค้าสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และ เมื่อยกเว้นเพียงการลงทุนโดยตรงของต่างชาติทีลดลง ทุกอย่างล้วนเป็นสัญญาณที่ดีทั้งสิ้น นักเศรษฐศาสตร์กล่าว

ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลและพยากรณ์เศรษฐกิจ กระทรวงวางแผนและการลงทุนประมาณว่า ไตรมาสที่สอง (เม.ย.-มิ.ย.) นี้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจะขยายตัว 3.5-3.8% เพิ่มขึ้น 0.4-0.7% จากไตรมาสที่หนึ่ง ขณะที่จีดีพีตลอดทั้งปีคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 4.5-5% ซึ่งนับว่าไม่น้อยภายใต้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีจีดีพีเป็นลบเกือบทุกประเทศ

รายงานยังกล่าวถึงสัญญาณที่บางบอกว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มกระเตื้องและฟื้นคืนจากการถดถอยอย่างช้าๆ ในช่วงเดียวกันนี้

แม้ว่าการส่งออกไตรมาสแรกของเวียดนามจะทำได้ไม่ถึงเป้า แต่ก็ได้เห็นอัตราเพิ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เป็นความสำเร็จของเวียดนามหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

การส่งออกที่เริ่มกระเตื้องขึ้นนี้นำหน้าโดยข้าว ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะห้ามทำสัญญาซื้อขายในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ก็ตาม แต่ห้าเดือนแรกของปีมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไปประมาณ 4 ล้านตัน และส่งออกไปแล้วกว่า 3 ล้านตัน เป็นการทำสถิติใหม่ ขณะที่เป้าหมายส่งออกข้าวตลอดทั้งปี 4.5-5 ล้านตัน

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งใช้เป็นเครื่องชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง 0.35% จากเดือน มี.ค. แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินฝืดได้คลายลง ความต้องการการบริโภคเพิ่มขึ้น

สำหรับเดือน พ.ค. กระทรวงวางแผนฯ แถลงสัปดาห์ที่แล้วคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียง 5.58% เทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว และ เป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่ CPI ลดลงต่อเนื่องเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียว และเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2547
<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพีถ่ายวันที่ 4 พ.ค.2552 พนักงานกวาดถนนในกรุงฮานอย ยังทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจจะฝืดเคือง แต่ทางการกล่าวว่าเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว จีดีพีในไตรมาสที่สองนี้ขยายตัว 3-3.5% </FONT></br>
อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการเวียดนามกล่าวว่า แม้จะเห็นสัญญาณทางบวกใหม่ๆ ก็ตาม รัฐบาลก็ยังจะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

รายงานของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมก็ไม่ต่างกัน ตัวเลขผลผลิตรวมอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 3.1% จากเดือนก่อน และ เพิ่ม 5.4% หากเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่างๆ ตั้งแต่กระแสไฟฟ้าจนถึงปุ๋ยสำหรับนาข้าวกับผงซักฟอกที่ใช้ในครัวเรือนล้วนเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นการบริโภคที่เคลื่อนไหวในทางบวก

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารโลกกล่าวในกรุงโตเกียวสัปดาห์ที่แล้วว่า เวียดนามปรับตัวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกได้ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศนี้ประสบความยุ่งยากด้านจุลภาคภายในมาก่อนหน้านั้นหนึ่งปี จึงทำให้เคลื่อนไหวสนองตอบวิกฤติโลกได้เร็ว

ธนาคารโลกพยากรณ์ว่า เวียดนามจะเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จะไม่เกิดวิกฤติในประเทศนี้ ทั้งชี้ให้เห็นว่าการส่งออกของเวียดนามซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นและลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก หากเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่การส่งส่งออกของประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาคลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่า ปีนี้จีดีพีของเวียดนามจะขยายตัว 3.5-5% การปรับการเติบโตลงเหลือ 5% เมื่อต้นเดือนนี้จึงเป็นอัตราที่เหมาะสม

นายเหวียนซิงหุ่ง (Nguyen Sinh Hung) รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้รายงานต่อรัฐสภา (National Assembly) ว่าเวียดนามยังไม่พ้นจากพิษเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก การปรับอัตราการเติบโตใหม่จะทำให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในระยะกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ตามห้าเดือนแรกของปีนี้เวียดนามได้เห็นการลงทุนโดยตรงของต่างชาติหรือ FDI (Foreign Direct Investment) ลดลงมหาศาลถึง 76.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
<br><FONT color=#cc00> รอวันฟื้น-- ภาพเอเอฟพีถ่ายวันที่ 24 เม.ย.2552 ที่ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงฮานอยซึ่งเป็นตลาดหุ้นแห่งที่สองของประเทศดัชนีหุ้นบริษัทใหญ่ยังเป็นตัวสีแดง แต่ภาพรวมเป็นการเคลื่อนไหวที่คึกคักเป็นครั้งแรกในรอบสองปี ขณะที่เวียดนามกล่าวว่าได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา.</FONT></br>
ในเดือน ม.ค.-พ.ค.นี้ เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เพียง 6,680 ล้านดอลลาร์ กว่าครึ่งหนึ่งคือ 3,960 ล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนเพิ่มในโครงการลงทุนเก่า คิดเป็นการขยายตัว 40% อีก 2,720 ล้านดอลลาร์เป็นเงินลงทุนใหม่ใน 256 โครงการ เป็นจำนวนที่ต่ำมากหากเทียบกับ 14,700 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นตัวเลขของกระทรวงวางแผนและการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันนี้โครงการลงทุนต่างๆ มีการใช้จ่ายเงินทุน 2,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 73.1% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2551

ภาวะเศรษฐกิจซบเซาได้ส่งผลกระทบถึงบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติในเวียดนาม ตัวเลขส่งออกของบริษัทเหล่านี้มีเพียง 8,280 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ลดลงราว 10.2% ปีต่อปี ทั้งนี้ไม่ได้นับรวมการส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมต่างๆ

กระทรวงวางแผนฯ กล่าวว่าปี 2552-2553 นี้เวียดนามจะเปิดอุตสาหกรรมอีกหลายแขนงเพื่อให้ต่างชาติเข้าลงทุน และกำลังมีการจัดเตรียมมาตรการจำนวนมาก เพื่อรับการลงทุนในแขนงอุตสาหกรรมเหล่านั้น หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์กล่าว

ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่จะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุน ในขณะที่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เวียดนามต้องเปิดภาคบริการของประเทศให้ต่างชาติเข้าแข่งขันได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นพันธะที่เวียดนามให้ไว้ต่อองค์การการค้า

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ “หวัดสุกร” กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามอย่างเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนลดลง กระทบต่อรายได้ของสายการบิน โรมแรม ร้านอาหารและบริการอีกมากมายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ความเสียหายอันเป็นพลพวงจากโรคระบาดอาจจะแสดงให้เห็นเป็นตัวเลขออกมาในไตรมาสที่สาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น