เอเอฟพี – กรมสถิติของจีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นตัวเลขบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อร่วงลงแตะระดับติดลบ 1.6 % นับเป็นครั้งแรกในรอบหกปีที่จีนรายงานเงินฝืด ท่ามกลางความวิตกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกจะทรุดหนักในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย
ข้อมูลจากกรมสถิติจีนที่เปิดเผยในวันอังคาร (10 มี.ค.) ระบุราคาอาหาร,เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิงซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อก็ลดลงอยู่ที่ 1.9% ในเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่ากล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงความเชื่อมั่นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะสามารถแตะระดับ 8 % อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า เงินฝืดอาจเป็นอุปสรรคของเป้าหมายดังกล่าว
จากดัชนีเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด หากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่เป็นกำลังหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจไม่บรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์
ด้านจิง อุลริช นักวิเคราะห์แห่งเจพี มอร์แกน กล่าวว่า “ราคาสินค้าที่ลดลงนับเป็นปัญหาที่หน่วยงานกำหนดนโยบายต่างกังวล เนื่องจากในภาวะเงินฝืดผู้บริโภคมักชะลอการจับจ่าย ซึ่งยิ่งสร้างความกดดันให้ราคาสินค้าตกลงอีกในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม กรมสถิติจีนได้เผยตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อในสองเดือนแรกของปีนี้ ชะลอตัวที่ 0.3 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารแห่งชาติจีนประเมิน ดัชนีเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อาจขยายตัวที่ 1 %
ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการขายส่งในเดือนกุมภาพันธ์ก็อ่อนตัวลง 4.5 %
“มันเป็นเรื่องปกติที่ราคาสินค้าทุกอย่างลดลง รวมทั้งน้ำมันและอาหาร ซึ่งก็สะท้อนถึงภาวะเงินฝืดในเศรษฐกิจโลกด้วย” เหริน เสียนฟาง นักวิเคราะห์จากบริษัทโกลบอล อินไซท์ ในกรุงปักกิ่ง
ทั้งนี้ ดัชนีเงินเฟ้อที่ทางการจีนได้เปิดเผยเป็นลำดับแรกในชุดข้อมูลต่างๆ นับเป็นสัญญาณแรกที่มีนัยว่าปีนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไปกับเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี
ที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่เนื่องจากความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลงในปีที่แล้ว จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขยายตัวเพียง 6.8 % ซึ่งหน่วยงานกำหนดนโยบายมองว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำสุดที่เชื่อว่า จะสามารถเลี่ยงตัวเลขการว่างงานที่พุ่งขึ้นรุนแรง และอาจเกิดปัญหาความไม่สงบในประเทศ ขณะที่จีดีพีตลอดปี 2551 ขยายตัวที่ 9 % นับเป็นครั้งแรกที่ร่วงลงสู่เลขตัวเดียวนับตั้งแต่ปี 2545