xs
xsm
sm
md
lg

การติดลบของเงินเฟ้อ สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงวันนี้หลายคงคิดว่าตัวเองตาฝาดไปหรือเปล่าที่ได้เห็นราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากเดิมที่เคยปรับตัวสูงขึ้นกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่นอกจากจะชะลอตัว ยังมีโอกาสก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยมากกว่า

ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยเปืดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบเป็นเดือนที่สอง จากที่ลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) ในเดือนมกราคม

การปรับตัวลดลงในครั้งนี้ และยังคงติดลบในเดือนนี้เป็นผลของการที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (Month-on-Month) ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งได้มีการยกเลิกเฉพาะในส่วนของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศทยอยปรับขึ้นตาม นอกจากนี้ ดัชนีในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.7 จากที่รัฐบาลได้มีการปรับมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน สำหรับค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาใหม่ โดยลดการอุดหนุนลง ส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.8 (YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลของการปรับมาตรการอุดหนุนค่าประแสไฟฟ้าและน้ำประปาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 เป็นร้อยละ 0.0-0.5 ลดลงจากคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ร้อยละ 0.0-1.2

ครึ่งแรกปี 52 เงินเฟ้อติดลบ
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางโดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะยังอยู่ในสภาวะติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ต่อไปจนถึงประมาณเดือนกรกฏาคม เนื่องจากแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตามจากการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ แต่อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นการคำนวณโดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงที่เงินเฟ้อในปี 2551 พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม อาจเห็นตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมมีอัตราติดลบน้อยลงหรือกลับมามีอัตราที่เป็นบวกได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะมีทิศทางชะลอลงในเดือนต่อๆ ไป โดยมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะติดลบบางเดือนในช่วงกลางๆ ปี

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน โดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก หรือ โอเปค ได้แสดงท่าทีว่าอาจจะมีการพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือนเมษายน ซึ่งโอเปคจะมีการประชุมในวันที่ 15 มีนาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นสต็อกน้ำมันของสหรัฐที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะเดียวกันคาดว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนอาจจะค่อยๆ เริ่มหนุนเศรษฐกิจจีนให้ปรับตัวดีขึ้น และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น โลหะพื้นฐานและน้ำมัน ปัจจัยทั้งสองนี้อาจหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันคงยังไม่ปรับขึ้นในลักษณะที่รวดเร็ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกยังมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอยซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงช่วงปลายปี แนวโน้มราคาจึงน่าจะเป็นลักษณะการปรับตัวจากจุดต่ำสุด แต่เราคงยังจะไม่เห็นราคากลับไปเทียบเท่าระดับที่เคยสูงสุดในปี 2551 ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ถึง 1.8 และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2552 อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังคงเป็นตัวเลขบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นศก.เพิ่ม
จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นไว้ว่า จากสภาวะที่เงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ทางการยังสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดทรุดต่ำลงมากกว่าที่คาด โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2551 หดตัวลงถึงร้อยละ 4.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2552 สะท้อนการหดตัวลงของอุปสงค์ในภาคเอกชนทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ขณะเดียวกัน ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น รวมทั้งธุรกิจมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสภาพคล่องและผลประกอบการตกต่ำลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อเนื่องไปสู่คุณภาพของสินเชื่อของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าออกไปจะทำให้ปัญหาการผลิตในภาคธุรกิจส่งออกและปัญหาการว่างงานคงอยู่ยาวนานออกไปมากขึ้น จึงนับเป็นความจำเป็นที่ทางการอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และลดผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ยังคงต้องรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น