xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐสกัดเงินฝืดปี 52 ราคาสินค้าถูก ต้องเร่ง ปชช.ควักกระเป๋า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แนะจับตา ศก.ปี 52 เสี่ยงภาวะเงินฝืด ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลง อุปทานล้นตลาด แต่คนไม่อยากควักกระเป๋าซื้อสินค้า เพราะไม่มั่นใจในอนาคต “สภาพัฒน์” ตั้งป้อมหั่น “จีดีพี” ลงเหลือ 0% ก.พ.นี้ แนะดูแลงบอัดฉีดกำลังซื้อ 1.15 แสนล้านใกล้ชิด เพื่อให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมาย

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยปี 2552 อาจเผชิญปัญหาภาวะเงินฝืด โดยยอมรับว่า มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะราคาสินค้าน่าจะลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะออกมาป้องกัน และจัดการไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดอย่างไร

นายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ตลอดปี 2552 ไทยจะต้องเผชิญกับการหดตัวของกำลังซื้อทั่วโลก ทำให้การส่งออกลดลงมาก และอาจต้องประสบปัญหาเงินฝืด เพราะประชาชนใช้จ่ายน้อยลง

ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโต 0-0.5% พร้อมระบุว่า สศช.จะมีการประกาศประมาณการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ ซึ่งเสี่ยงจะลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 1.5-2.5%

นายปรเมธี ยอมรับว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาภาวะเงินฝืดจากการบริโภคที่ลดลงมีโอกาสเป็นไปได้สูง รวมทั้งประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ โดยมองว่ามาตรการที่จะนำมาดูแลเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ทำให้เกิดการว่างงานมากเกินไป เช่น การอัดฉีดงบประมาณการใช้จ่าย การลดอัตราดอกเบี้ย และการหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ ปัญหาเงินฝืด (Deflation) เนื่องจากมีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ จึงเกิดการลดลงของราคาสินค้าอย่างยืดเยื้อจากการที่อุปสงค์ต่ำกว่าอุปทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบทเรียนในอดีตรัฐบาลไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับพยายามรักษาให้งบประมาณสมดุล ทำให้ในที่สุดเกิดการขาดความมั่นใจ และเกิดความตื่นตระหนกจนนำไปสู่วิกฤตที่รุนแรง

นักวิชาการบางท่าน ระบุว่า สภาวะเงินฝืด หมายถึงสถานการที่เงินไม่ค่อยขยับ หรืออีกนัยหนึ่งก็ประชาชนไม่ค่อยอยากจะควักเงินในกระเป๋าออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าปรับลดลง ภาคการผลิตและบริการลดการผลิต ตามมาด้วยเกิดภาวะเลิกจ้าง

หากมองในเชิงทฤษฎี การที่จะบอกว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น ต้องดูจาก GDP ที่ขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ไม่ได้ดูจาก CPI อย่างเดียว หากมองย้อนกลับไปในอดีตประมาณ 30 ปี ประมาณปี 2522 ช่วงนั้นระดับราคาน้ำมันขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 17.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2522 เพิ่มเป็น 31 ดอลาร์ต่อบาเรล ในปี 2523 และพุ่งไปถึง 36 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในปี 2524 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่มีราคาสินค้าอยู่ในระดับที่สูง

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน อาจเป็นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแบบที่ราคาสินค้าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการปรับตัวของราคาน้ำมันลดลง หากเปรียบเทียบในช่วงเวลาดังกล่าวกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของเงินฝืดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน แต่แตกต่างกันตรงที่ปี 2522 ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

โดยในปี 2552 นี้ ราคาน้ำมันเฉลี่ยน่าจะลดลงจากปี 2551 ที่เป็นปีที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากที่สุดปีหนึ่ง ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปี 2552 นี้อาจจะติดลบได้ ซึ่งอาจเรียกว่าเงินฝืดทางเทคนิค ซึ่งเกิดขึ้นได้ เนื่องจากราคาสินค้ามีการปรับลงเยอะ เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2552 นี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.5-2.0% เท่านั้น

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อให้ตัวเลขอื่นๆ ที่มีผลต่อ GDP ขยายตัวให้มากที่สุด เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปของภาคการส่งออก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะวัดว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น นักเศรษฐศาสตร์บางรายไม่ได้มองแค่เงินเฟ้อสูงกว่า GDP เท่านั้น บางรายให้ดูตัวเลขอัตราการว่างงานประกอบด้วย แต่บางครั้งอาจพบว่าจะมีปรากฏการณ์แจ้งล่วงหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ก่อนภาวะ เงินฝืด ได้แก่ ปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า Stagflation (เงินเฟ้อ+ลงทุนลด) ซึ่งเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเผชิญภาวะใกล้เคียงกับปรากฏการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น