ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของ บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะประกาศอัตราเงินเฟ้อของเดือนธันวาคมต่ำลง ในวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม 2552 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่จะอยู่ที่ระดับ 0.72% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.79% ลดลงจากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex ที่ลดลงมากถึง 24% จากระดับ 54.15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ยที่ 43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล รวมทั้งส่งผลให้ค่าโดยสารส่วนใหญ่ปรับตัวลงด้วย จากผลดังกล่าวเมื่อผนวกกับมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อของรัฐบาลจะทำให้ระดับเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 5.60% และ 2.34% ตามลำดับ
ทั้งนี้ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานอีกครั้งหนึ่งและได้ปรับลดลงจากช่วง +2 ถึง +3% มาอยู่ที่ระดับ -1.5% ถึง -0.5% เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ประกาศออกมาแล้วว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์จะยังคงใช้มาตรการต่อสู้เงินเฟ้อ (ยกเว้นมาตรการลดภาษีสรรพษามิตรน้ำมัน) ต่อไปอีก จากเดิมกำหนดให้สิ้นสุดในเดือนมกราคมด้วย
ขณะเดียวกันคาดว่าราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในกรอบกว้างราว 40-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2552 ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันดิบ Nymex จะหล่นลงมาต่ำกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในตอนนี้ แต่ยังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะแกว่งตัวขึ้นมาอยู่ในกรอบกว้างราว 40-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือเฉลี่ยที่ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาคือ การที่โอเปคจะลดกำลังการผลิตลง รวมทั้งคาดว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตใช้สต๊อกสินค้าเก่าหมดแล้วและต้องทำการผลิตเพิ่ม แม้ว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาลง แต่เราคาดว่าราคาจะไม่ลงไปต่ำกว่าระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากเป็นระดับต้นทุนรวมในการขุดเจาะ, กลั่น, และขนส่งของกลุ่ม OPEC เนื่องจากราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า 12 เดือนของตลาด Nymex ฉบับเดือนมกราคม 2553 ซื้อขายที่ระดับราว 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม 2551 ดังนั้นประมาณการเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบของเราที่ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลดูจะสมเหตุสมผลอยู่
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของ บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง ยังมองถึงเรื่องของเงินเฟ้อว่า รัฐบาลใหม่จะต่ออายุมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ ต่อไป ทั้งในส่วนรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน, การลดราคาตั๋วรถไฟชั้น 3 และการเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าฟรีแก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดีรัฐจะเริ่มจัดเก็บภาษีสรรพษามิตรน้ำมันตามเดิมหลังจากมาตรการสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาถึง 70% แล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลได้เริ่มมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมปีนี้ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการประชานิยมเหล่านี้จะทำให้คนไทยเสียนิสัย แต่กลับมองว่าจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างปีหน้า ซึ่งคาดว่ามาตรการต่อสู้เงินเฟ้อจะสามารถช่วยลดระดับอัตราเงินเฟ้อลงได้ประมาณ 2% ในปีหน้า หากมาตรการนี้ได้รับการยืดอายุจนถึงสิ้นปี 2552 จะมีการปรับองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้นักลงทุนควรทราบด้วยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป ทางสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้าจะปรับสัดส่วนขององค์ประกอบในดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งจะปรับโดยทุก ๆ 5 ปีตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนสัดส่วของแต่ละองค์ประกอบจะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับอัตราเงินเฟ้อที่เราคาดการณ์ไว้ตามสัดส่วนเดิมเท่าใดนัก
นอกจากนี้ หากประมาณการอัตราเงินเฟ้อของเดือนธันวาคมและของปี 2552 ถูกต้อง คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งต่อไป (ในวันที่ 14 มกราคม 2552) รวมถึงช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 จากสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยและภาพรวมที่ไม่สู้จะดีนักในปี 2552 เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ย ซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน ลงอย่างน้อยอีก 0.75% ลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ภายในสิ้นปี 2552 นอกจากนั้นการที่สินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในอีกหลายเดือนข้างหน้า ทำให้เราเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย
ขณะเดียวกันทางฝ่ายวิจัยฯ ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2552 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่แตกต่างกัน (Sensitivity analysis) โดยคาดไว้ในปีหน้าว่าระดับราคาน้ำมันจะแกว่งตัวในช่วงกว้างระหว่าง 40-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ประมาณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยใช้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 30-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ผลอยู่ในช่วง -4% ถึง 1% ในปีหน้า และหากใช้ระดับราคาเฉลี่ยที่ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จะได้ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.5% ถึง - 0.5%
ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2552
เนื่องจากราคาน้ำมันดิ่งลงมากกว่าที่เราคาดไว้อย่างมาก รวมถึงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะขยายระยะเวลาการใช้มาตรการต่อสู้เงินเฟ้อออกไปอีก (ยกเว้นมาตรการภาษีสรรพษามิตรน้ำมัน) ทางฝ่ายวิจัยฯจึงคาดว่าภาวะเงินฝืดจะเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างช้าที่สุดในเดือนเมษายน สืบเนื่องจากฐานดัชนีราคาที่สูงมากของเดือนเดียวกันในปี 2551 นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 เนื่องจากเป็นเดือนที่รัฐบาลประกาศมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อในปี 2551 ราคาน้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย สืบเนื่องมาจากอุปสงค์เริ่มกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง หลังจากผู้ผลิตเพิ่มผลผลิตมาทดแทนสต๊อกเก่าที่หมดลงในปีหน้า รวมถึงการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และแนวรับที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลซึ่งเป็นระดับต้นทุนการผลิตและขนส่งของกลุ่ม OPEC ด้วย จึงคาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยและส่งผลให้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2552 จะอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5%
ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ได้ประเมินถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยประเมินว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ทยอยประกาศจากกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงพาณิชย์ มีทั้งที่สามารถปฏิบัติได้จริงในช่วงเวลาสั้นๆแต่อาจจะไม่ช่วยผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ในขณะที่บางมาตรการยังไม่มีความชัดเจน และอาจทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า อีกทั้งอาจจะปฏิบัติไม่ได้จริง ทั้งนี้จากที่ SCRI ประเมินเบื้องต้น พบว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการเกษตร และ ธุรกิจส่งออก กำลังเผชิญกับปัญหาในขั้นวิกฤติ และ ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วนในขณะที่ความเป็นไปได้ของนโยบายความช่วยเหลือของธุรกิจท่องเที่ยวมีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดและคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้โดยตรง อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวยังคงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ทางด้าน ธุรกิจท่องเที่ยว นั้นต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดจากผลกระทบจากทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ และ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม สายการบิน การจัดแผนการท่องเที่ยว กำลังเผชิญกับปัญหาขั้นวิกฤตมากที่สุด SCRI ประเมินว่ามาตรการของรัฐบาลควรเน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยมากกว่าการลดราคาที่จะกลายเป็นปัญหาของผู้ประกอบการในระยะยาว
ขณะที่มาตรการกระตุ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั้นการใช้มาตรการขยายวงเงินลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เน้นการสร้างแรงจูงใจทางด้านอุปสงค์มากกว่าในขณะที่ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะไปก่อนหน้านี้แล้วระกอบกับ สถานการณ์ของผู้ประกอบการยังไม่เข้าขั้นวิกฤติเหมือนปี 2540อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขยายวงเงินลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้จะจำกัดเฉพาะกลุ่มในระดับกลางที่มีราคาขายหรือวงเงินกู้ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี SCRI คาดว่า นโยบายนี้ยังคงมีข้อจำกัดที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน
ส่วนแผนความช่วยเหลือของ ธุรกิจส่งออก และ การเกษตร ยังขาดความเป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เวลาในการปฏิบัตินาน เนื่องจากต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องและต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ทำให้อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่าโดยเฉพาะการพยุงราคาสินค้าเกษตรที่มีอุปทานออกมามากขึ้น นโยบายการลดราคาสินค้ากดดัน “ธุรกิจค้าปลีก” ที่จะได้ผลกระทบจากการเพิ่มจำนวนสินค้าที่ต้องลดลงตามต้นทุน ทำให้ยอดขายชะลอตัว ในขณะที่มาตรการกฎหมายที่จำกัดการขยายสาขาเพื่อช่วยโชห่วยรายย่อยกำลังจะถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง