สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยถึง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม ยูโรโซนว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มยูโรโซนกลับเข้าสู่กรอบของ ECB เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 13 เดือนโดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของกลุ่มประเทศยูโรโซน (ตัวเลขประมาณการณ์เบื้องต้น) ในเดือนธ.ค. 2551 ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.6% yoy ปรับตัวลงในอัตราเร่งต่อเนื่อง จากในช่วงเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.1% yoy และยังนับได้ว่าเป็นการกลับมายืนอยู่ในกรอบ2% ตามเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวของทาง ECB เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 14 เดือน และยังเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.8% yoy
ทั้งนี้ ได้ทำการประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในช่วงปี 2552 คาดว่าจะมีการปรับชะลอตัวลงตลอดทั้งปี ตามแรงกดดันจากทั้งทางด้านต้นทุนสินค้าหลายชนิดที่มีการปรับราคาลดลง และภาคอุปสงค์ในประเทศที่โดนผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยปัจจัยหลักๆในการปรับตัวลดลงของระดับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 เดือนหลังของยูโรโซน ยังคงมีสาเหตุมาจากระดับราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังเกตได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ถือได้ว่าค่อนข้างจะทรงตัว เมื่อเทียบกับทิศทางการปรับลดลงของระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งบ่งบอกได้ว่าระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆชนิดในยูโรโซน ยังคงไม่ได้มีการปรับลดลงมากนัก
ดังนั้นเชื่อว่าในช่วงปี 2552แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะยังคงมีทิศทางการปรับลดลงได้อีกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มเห็นระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวแล้วก็ตามเนื่องจากประเมินว่าราคาสินค้าหลายๆชนิดที่ยังคงไม่ได้มีการปรับราคาลดลง จะค่อยๆมีการทยอยปรับราคาลดลงตามลำดับ เนื่องจากโดนกดดันจากต้นทุนสินค้าที่มีการปรับราคาลดลง และภาคอุปสงค์ในประเทศที่โดนผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยนอกจากนั้นแล้ว European Commissionคาดการณ์ระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะลดลงเหลือ 2.2% จาก 3.5% ในปีนี้ และจะลดลงเหลือ 2.1% ในปี 2553
เศรษฐกิจสหรัฐแกนหลักของโลก
ขณะเดียวกันยังได้เปิดเผยถึงสภาพเศรษฐกิจโลกด้วยว่า ตราบใดที่แบบแผนเศรษฐกิจของโลกยังคงเป็นในรูปแบบเดิมนั่นคือการที่ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นชาติหลักในการบริโภคหรือนำเข้าสินค้าและบริการจากชาติต่างๆทั่วโลก ตราบนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของชาติต่างๆทั่วโลกยังคงต้องรอคอยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
โดยทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทยมองว่าในขณะนี้ ชาติต่างๆทั่วโลกกำลังเดินหน้าเร่งออกมาตรการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวที่เน้นการจัดทำงบประมาณรัฐบาลแบบขาดดุล โดยเน้นไปที่การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อหวังผลการจ้างงานแรงงานจำนวนมากเพื่อกอบกู้ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากไปกว่านี้ ซึ่งจากการประเมินมองว่า จีนเป็นชาติที่มีความคืบหน้าและมีความรวดเร็วในการดำเนินแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาคาดว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะดำเนินการทันทีภายหลังจากที่นายโอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค. 52 โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ในวงเงินประมาณ775,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.4 % ของ GDP สหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังประเมินว่า แม้ว่า ในกรณีที่ดีที่สุดคือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จการการผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวจากการถดถอยรวมทั้งสถาบันการเงินมีความมั่นในในการปล่อยสินเชื่อ แต่ยังเชื่อว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคสหรัฐฯ นั้นจะไม่เหมือนก่อนวิกฤตการเงินในปี 2551 ดังจะเห็นจากพฤติกรรมของประเทศอื่นๆที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้น แบบแผนพฤติกรรมของสถาบันการเงิน ประชาชนในระบบเศรษฐกิจนั้นจะแตกต่างจากก่อนวิกฤติอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของไทย หลังวิกฤติ2540 สถาบันการเงินของไทยมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก รวมทั้งภาคเอกชนไทยมีความระมัดระวังในการลงทุนส่งผลให้ระดับNPL ของสถาบันการเงินไทยและระดับการลงทุนเอกชนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับก่อนปี 2540 ญี่ปุ่นเองเช่นกัน หลังวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในปี 2533 เอกชนญี่ปุ่นลดการกู้เงินจากสถาบันการเงินและทำการเร่งชำระหนี้สินคืนแก่สถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลให้สถาบันการเงินญี่ปุ่นนั้นต้องปล่อยกู้แก่นักลงทุนต่างประเทศแทน จนเป็นที่มาของการทำธุรกรรมของนักลงทุนต่างประเทศที่กู้เงินเยนในญี่ปุ่นและไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ (Yen Carry Trade)
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว ระดับการบริโภคของครัวเรือนสหรัฐฯ จะลดทอนลงอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติ ซึ่งถ้าระบบเศรษฐกิจโลกยังคงยึดตามรูปแบบแผนเดิมที่ให้สหรัฐฯ เป็นผู้บริโภคหลักของโลกนั้น มีความเป็นไปได้ที่การบริโภคในระดับที่ต่ำของสหรัฐฯ นั้นจะนำไปสู่การขยายตัวในอัตราที่ต่ำของเศรษฐกิจโลกเป็นเวลาหลายปี ในอีกด้านหนึ่งประเทศกลุ่ม BRICs อันประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนนั้น ยังไม่มีศักยภาพในการบริโภคที่จะทดแทนการบริโภคของสหรัฐฯลงได้อย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากระดับรายได้ต่อหัวอยู่ในอัตราที่ต่ำ
สถาบันวิจัยนครหลวงไทยยังได้ประเมินถึงทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะสั้นด้วยว่า ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวเพิ่มของราคาน้ำมันจากปัจจัยความตึงตัวในตะวันกลาง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งยังต่อเนื่อง โดยคาดจะยังส่งผลบวกต่อทิศทางราคาสินค้ากลุ่มเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ถ่านหิน ขณะที่ ทองคำเป็นโภคภัณฑ์เดียวที่คาดจะมีทิศทางปรับลงจากแรงกดดันของค่าเงิน อุปสงค์ และการปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของราคาน้ำมันจากปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น โดยปัจจัยเดียวที่เชื่อว่าจะมีผลต่อการปรับสมดุลของอุปสงค์-อุปทานและสร้างเสถียรภาพให้ราคาน้ำมันได้แท้จริง คือการปรับลดปริมาณการผลิตที่แท้จริงของกลุ่ม OPEC ซึ่งล่าสุดประเทศสมาชิกยังคงไม่ได้ปรับลดกำลังการผลิตลงตามผลการประชุมกลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้
แนะนำให้นักลงทุน ขายทำกำไร หุ้นกลุ่มน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี จากราคาน้ำมันที่คาดจะยังกลับมาปรับตัวอ่อนตัวลงใน 1H/52ขณะที่ ส่วนต่างราคาสินค้าปิโตรเคมี ค่าการกลั่น แม้อาจฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มลดกำลังการผลิต แต่ประเมินยังคงเป็นการฟื้นตัวระยะสั้นและยังขาดเสถียรภาพ กลุ่มที่ยังคงแนะนำลงทุนระยะยาว ได้แก่ ถ่านหิน ซึ่งตึงตัวกว่าน้ำมัน แนะนำ “ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว” ขณะที่ กลุ่มเดินเรือและเหล็ก ยังคงให้น้ำหนักลงทุน “เก็งกำไร” จากแนวโน้มการผ่านจุดตํ่าสุด