xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก...แผ่วลงทั้งปริมาณ-ราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา ภาคส่งออกก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังจะสังเกตได้จากสัดส่วนมูลค่าส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 38% ในปี 2540 เป็นกว่า 60% ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกของไทยอยู่ในระดับ 2 หลักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าความต้องการภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนอยู่ในภาวะซบเซา แต่ภาคส่งออกกลับเติบโตอย่างเด่นชัด จนกลายเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบั่นทอนต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสายโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังลุกลามและทวีความรุนแรงขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่า การส่งออกซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยอาจมีอันต้องสะดุดลง ขณะที่แรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศอาจทำงานได้ไม่เต็มที่นักท่ามกลางปัญหาการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งย่อมจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิกฤตเศรษฐกิจโลก...เริ่มฉุดปริมาณส่งออกสินค้าไทย
แม้ว่ามูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 ยังคงขยายตัวร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาถึงปริมาณส่งออกจะเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น สาเหตุหลักมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปะทุขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (European Union : EU) และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การส่งออกไปยัง 3 ตลาดหลักดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 35% ซึ่งดูเหมือนไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดที่เหลืออื่นๆ ดังนั้นผลกระทบทางตรงจึงจำกัดวงอยู่แค่สินค้าส่งออกไปตลาดหลักเหล่านั้นโดยตรง แต่ในความเป็นจริงไทยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ในวงจรการค้าโลก จึงมีการส่งออกทางอ้อมไปตลาดหลักโดยผ่านการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบรวมทั้งสินค้าทุนไปยังตลาดเกิดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะตลาดเอเชียซึ่งต้องพึ่งพา 3 ตลาดหลักดังกล่าวอีกทอดหนึ่งในสัดส่วนถึงราว 60% และหากนับรวมตลาดอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอเชียแล้วจะพบว่า ไทยส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยัง 3 ตลาดหลักซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกในสัดส่วนสูงมากทีเดียว

เป็นที่แน่นอนว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับและคงยืดเยื้อต่อไปจนถึงปี 2552 ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าจากประเทศต่างๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ราคาส่งออก...อนาคตไม่สดใส
ราคาส่งออกสินค้าในปี 2551 นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาในตลาดโลกอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนอาหารจากสภาวะอากาศแปรปรวนในหลายภูมิภาคของโลกและการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าส่งออกโดยรวมของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 ขยายตัวถึง 12.5% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาการเคลื่อนไหวของทิศทางดัชนีราคาสินค้าส่งออกรายเดือนจะพบว่า เริ่มมีสัญญาณไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เช่นเดียวกับดัชนีราคาสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนเริ่มปรับตัวลดลงและนับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

ปัจจัยบั่นทอนราคาส่งออกที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เริ่มล้นตลาดรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มลดลง เมื่อประกอบกับฐานราคาสินค้าในปี 2551 ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าราคาสินค้าส่งออกจะเริ่มชะลออย่างเห็นได้ชัดขึ้นในระยะถัดไป

การส่งออกโดยรวมของไทยในปี 2552 มีทิศทางไม่สดใสนัก ทั้งจากแรงกดดันด้านปริมาณส่งออกซึ่งคงจะเริ่มอ่อนแรงลงเป็นลำดับจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะจนบั่นทอนกำลังซื้อของหลายประเทศ ขณะที่ราคาส่งออกซึ่งเคยเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในปี 2551 ส่อแววที่จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งในปี 2552 เมื่อประกอบกับฐานมูลค่าส่งออกที่สูงมากในปี 2551 จึงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นการขยายตัวของมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยที่ระดับ 2 หลักต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมามากและปรับตัวได้ดีกับภาวะยากลำบากหลายครั้งหลายคราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นไปได้ว่าผู้ส่งออกจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ แม้ว่าภาวะตลาดโลกจะไม่เป็นใจเท่าใดนัก

ที่มา : ฝ่ายวิจัยเอ็กซิมแบงก์


กำลังโหลดความคิดเห็น