xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ คาดตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปีนี้ หดตัวเหลือ 4.3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปีนี้ หดตัวเหลือ 4.3% ระบุ การลงทุน-ท่องเที่ยว ฉุดตัวเลขวูบ บล.ซิมิโก้ คาดแรงกดดัน กนง. หั่นดอกเบี้ยลง 0.25-0.50% ส่งท้ายปี 2551

วันนี้ (21 พ.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ภาวะภาพเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงในวันที่ 24 พ.ย.นี้ น่าจะชะลอลงเหลือประมาณ 4.3% จากความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบต่อการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว และจะส่งผลต่อเนื่องไตรมาส 4 ปี 2551 แต่เชื่อว่าตัวเลข GDP ตลอดทั้งปี 2551 ยังเติบโตได้ 4.8% และจะชะลอเหลือ 2.5-3.5% ในปี 2552

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า ไตรมาส 3/51 จะอยู่ในระดับ 4.3% ชะลอตัวลงจาก 5.3% ในไตรมาส 2/51 โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีการออก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงดังกล่าว

"การลงทุนของเอกชนลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง ที่เห็นสัญญาณได้ชัดเจนในช่วงต้นเดือน ก.ย. ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังไม่เห็นโครงการใหม่ๆ โดยช่วงนี้ การท่องเที่ยวก็ประสบปัญหา ยอดนักท่องเที่ยวลดลงจากปัญหาการเมืองเช่นกัน"

ส่วนแนวโน้ม GDP ไตรมาส 4/51 จะยิ่งเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวลงแรงมากขึ้นคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ส่งผลให้ทั้งปีนี้คาดว่า GDP จะขยายตัวราว 4.8% ซึ่งการชะลอตัวของ GDP จะได้เห็นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 52

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังน่ากังวล ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 คือผลกระทบที่มาจากวิกฤตการเงินโลก และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและเริ่มสะท้อนมาถึงภาคการส่งออกของไทยที่หลายอุตสาหกรรมมียอดคำสั่งซื้อชะลอตัวลง

"ภาคส่งออกเริ่มสะท้อนให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะคำสั่งซื้อที่เข้ามาในหลายอุตสาหกรรมลดลงพอสมควร บางอุตสาหกรรมลดลง 30-40% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการปรับลดพนักงาน กำลังการผลิต ซึ่งเป็นสัญญาณล่วงหน้าได้พอสมควรว่าการผลิต การส่งออก อย่างน้อยไปถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2552 จะค่อนข้างมีปัญหา"

นางพิมลวรรณ ยังคาดว่า GDP ทั้งปี 2552 จะเติบโตในช่วง 2.5-3.5% โดยแยกสถานการณ์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกถ้าสถานการณ์ปกติก็คาดว่า GDP จะโตได้ 3.5% โดยปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณถดถอยจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 2552 และกว่าจะเห็นการฟื้นตัวคงเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นกรณีที่รุนแรงกว่านั้นก็คาดว่า GDP จะเติบโตได้ราว 2.5% โดยเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับปัญหาถดถอยและลุกลามมาถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO ก็มองในทิศทางเดียวกัน แต่สวนทางสภาพัฒน์ที่คาด GDP ไตรมาส 3 ปี 2551 จะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 4.5% เนื่องจากสภาพัฒน์ ได้ส่งสัญญาณนี้ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยระบุว่า GDP มีแนวโน้มที่ชะลอตัวชัดเจน

โดยราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ยังสนับสนุนการเติบโตของรายได้ภาคเกษตร แต่การส่งออกสุทธิลดลง การลงทุนชะลอตัว ภาคการท่องเที่ยวกระทบหนัก และการผลิตชะลอตัว ทั้งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก และอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในประเทศมากกว่า 70%

เบื้องต้น สศช.คาดว่า GDP ไตรมาส 3/51 จะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 2/51 ที่ระดับ 5.3% ในขณะที่ บล.ซิมิโก้ เห็นว่าเป็นการมองโลกในแง่ดี เพราะเชื่อว่า GDP ไตรมาสดังกล่าวจะโตได้ไม่เกิน 4.5% นอกจากนี้ สศช.ยังยอมรับว่า GDP ไตรมาส 4/51 ยังชะลอตัว และอาจรุนแรงต่อเนื่องในปี 52 ด้วยผลกระทบจากการหดตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก

บล.ซิมิโก้ คาดอีกว่า สภาพัฒน์คงจะปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 51 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.2-5.7% ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้นเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงมากตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน รวมไปถึงแรงกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้คาดว่า กนง.อาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือน ธ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น