xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กซิมแบงก์หวั่นส่งออกวูบ60% SCBติวเข้มธุรกิจรับมือดบ.ขาขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานเอ็กซิมแบงก์ระบุส่งออกปี 52 หืดจับรับผลกระทบสูงถึง 60% สภาพคล่องลามส่งผลเงินในมือลดคำสั่งซื้อสินค้าหาย เตรียมขอบอร์ดอนุมัติ 1.2 หมื่นล้านตั้งกองทุนหนุนส่งออก 3 กองรองรับเอสเอ็มอีใหม่ ประกันส่งออกและปล่อยซอฟท์โลนหวังเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ 4 แสนล้าน ด้าน"ไทยพาณิชย์"จัดสัมนนาผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ "วิกฤตโลก:เคราะห์ซ้ำเศรษฐกิจไทยและภาคส่งออกปี 52?" ว่า ในปี 52 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนักจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวรุนแรง โดยเฉพาะในภาคส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งได้รับผลจากประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง และแม้ว่าไทยจะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ทางตรงเพียง 35%

แต่ทางอ้อมซึ่งไทยขายสินค้าให้ประเทศอื่นๆ ก็พบว่ากลุ่มประเทศเหล่านั้นก็ส่งต่อสินค้าไปยังอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเช่นกัน จึงคาดว่าการส่งออกในปี 52 จะได้รับผลกระทบถึง 60% โดยสินค้าหลักๆได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อัญมณีเครื่องประดับ มันสำปะหลังและยางพารา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจะมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ส่งออกจากเหตุสภาพคล่องตึงตัวที่ผู้ซื้อสินค้าไม่ชำระค่าสินค้า ทำให้คำสั่งซื้อลดลง เงินหมุนเวียนในระบบลดลง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนโลกผันผวน

สำหรับบทบาทของธสน. นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวว่า ธสน.เตรียมเสนอกระทรวงการคลังและคณะกรรมการธนาคารในสัปดาห์หน้า เพื่อของบประมาณจำนวน 1.27 หมื่นล้านบาท ใช้เป็นทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านการส่งออกจำนวน 3 กองทุน ประกอบด้วย 1.โครงการผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลาดใหม่ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จะขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงิน 5 พันล้านบาทและธสน.หาเองอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าสนับสนุนผู้ส่งออกได้ถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี

2.ให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันการส่งออกแห่งชาติ วงเงิน 3.7 พันล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากการส่งออกที่ปัจจุบันเสี่ยงสูงจากคู่สัญญาไม่สามารถชำระเงินจากการขายสินค้าได้ วงเงินดังกล่าวจะคุ้มครองผู้ส่งออกได้ถึง 3 แสนล้านบาท และ3.โครงการกระตุ้นภาคการลงทุน 8 พันล้านบาท ให้รัฐบาลช่วย 4 พันล้านบาท และธสน.หาเอง 4 พันล้านบาท ร่วมกับนักลงทุนต้องลงเอง 4 พันล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้โครงการที่ลงทุนในต่างประเทศมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกเกือบ 4 แสนล้านบาท แต่หากรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินทุนมูลค่าดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น

**SCBเตือนเอกชนแบกรับภาระดบ.สูง**

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาใบโพธิ์ Business Forum เรื่อง "ผลกระทบวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยปี 52” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยให้สามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจ พร้อมรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกว่า เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน วิกฤติการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนจากวิกฤตการณ์การเงินไปเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้าง อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และระบบสถาบันการเงินไทยในขณะนี้มีความเข้มแข็งกว่าเมื่อปี 2540 มาก

ด้านแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเงินทุนจำนวนมากไหลกลับไปยังสหรัฐอเมริกา เพราะปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ทั้งนี้ต้องระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนี้ไม่ได้ถูกกำหนดโดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ถูกกำหนดโดยการปรับตัวของตลาดการเงินที่ยังมีความเบี่ยงเบนสูง

"ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบัน ภาคธุรกิจควรจะเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนด้านต่างๆ ด้วยการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสภาพคล่องและความเสี่ยงของธุรกิจ เช่น การจัดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างเหมาะสม การดูแลฐานะเงินสดของกิจการให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ การกระจายความเสี่ยง และการประกันความเสี่ยง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อเรื่องเอกสารการค้าและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง เช่น การเก็งกำไรในตลาดเงิน หรือการเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์"นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ แนวโน้มต้นทุนการกู้เงินของบริษัทเอกชนจากนี้ไปมีสัญญาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายที่มี

แนวโน้มปรับลดลง หลังจากที่เงินเฟ้อเริ่มอ่อนลง จึงเปิดช่องให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงได้ โดยธนาคารมองว่าในเดือน ธ.ค.นี้ ดอกเบี้ยนโยบายจะลดเหลือ 3.5% และ ในกลางปีหน้าจะลดเหลือ 3% แต่จากสภาพคล่องที่เริ่มตึงตัว เนื่องจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ไม่สามารถระดมทุนจากต่างประเทศได้ก็จะหันมาระดมทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องตึงตัว ดังนั้นดอกเบี้ยมีสิทธิปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ได้อิงกับดอกเบี้ยนโยบายเช่นในช่วงที่สภาพคล่องสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น