ปธ.สหพัฒนพิบูล ชี้วิกฤติการเงินสหรัฐฯ ธุรกิจไทยต้องเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาระดับการค้า พร้อมแนะคลัง-แบงก์ชาติ ดูแลค่าเงินใกล้ชิด ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการลดหย่อนภาษี เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ "ก้องเกียรติ" เตือนโครงสร้างหลายภาคส่วนกำลังเผชิญสัญญาณอันตรายขั้นรุนแรง ทั้งการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจ ถือว่าเลวร้ายมาก ซึ่งอาจเห็นเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตนี้ ที่ทุกอย่างกลายเป็นฟองสบู่ แล้วแตกพร้อมกัน ระบุ ตัวเลขส่งออกติดลบแล้ว
วันนี้ ( 7 พ.ย.) นายบุญสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “CEO Vision .... ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร” โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกขณะนี้ หลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหา 3 F คือ การเงิน อาหารและน้ำมัน ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จึงมีวัคซีนในตัว ด้านภาคการเงินไม่น่ามีปัญหาเหมือนต่างประเทศ ด้านอาหารประเทศไทยผลิตอาหารจำนวนมาก จึงไม่มีปัญหา ส่วนปัญหาน้ำมัน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ แต่ยอมรับว่าไทยกระทบมากกว่า เนื่องจากทุกภาคส่วนใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกประเทศไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ หากความต้องการในต่างประเทศลดลงจะต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาระดับการค้าไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ยอดขายและกำลังการผลิตจะต้องลดลงบ้างก็ตาม
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าในระดับที่เหมาะสม และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอกาสของการส่งออกของประเทศไทยในปีหน้า มีโอกาสที่จะติดลบ จากคำสั่งซื้อในหลายอุตสาหกรรมที่มีคำสั่งซื้อลดลงและติดลบแล้ว ทั้งแง่ของราคาและปริมาณการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 10 ตามที่รัฐบาลคาดการณ์เอาไว้ จะไม่มีโอกาสเป็นไปได้
สำหรับวิกฤตการเงินโลก และเศรษฐกิจโลกที่ฟองสบู่แตกพร้อมกันในหลายส่วน ทั้งการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจ ถือว่าเลวร้ายมาก ซึ่งอาจเห็นเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตนี้ที่ทุกอย่างฟองสบู่แตกพร้อมกัน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่เตรียมตัวรับมืออย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลยังออกมาตรการรองรับปัญหาเศรษฐกิจไม่เพียงพอ และเป็นมาตรการเดิมที่เคยใช้มาแล้วช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
การแก้ไขปัญหากฎหมายหน่วยงานราชการก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ต่างจากประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น เช่น ห้ามบริษัทเอกชนที่ซื้อหุ้นคืนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าภายใน 3 ปีจะเพิ่มทุนไม่ได้ เรื่องนี้ก็แก้ไขไม่แล้วเสร็จทำให้เอกชนไม่สามารถเพิ่มทุนได้ เพราะกฎหมายห้ามไว้ ทั้งที่มีความจำเป็น จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาช้าเกินไป ส่วน บริษัทที่มีชื่อเสียง อย่าง ปตท. ธนาคารขนาดกลาง ขณะนี้เริ่มออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนเงินแล้ว เพราะมองว่าสภาพคล่องข้างหน้าจะตึงตัว จึงขอให้นักธุรกิจระมัดระวังเก็บเงินสดสำรองไว้ด้วย
นายก้องเกียรติ กล่าวถึงการที่ นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายดูแลชนชั้นกลางและผู้มีเงินเดือนน้อย รวมทั้งปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ ว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่ส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯ ซึ่งไทยก็จะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย และหากรัฐบาลโอบามากีดกันทางการค้า ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อไทย ส่วนเศรษฐกิจโลกปีหน้าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปและญี่ปุ่นจะติดลบ และการซบเซาของเศรษฐกิจจะกระทบภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะต่อเนื่องตลอดปีหน้าทั้งปี
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สหพัฒน์ฯ คาดการณ์ยอดขายของบริษัทว่า ในปีนี้ยอดขายของกลุ่มสหพัฒน์ฯ จะเติบโต 5-10% และกำไรเติบโต 30-40% เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีนโยบายลดต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของด้านโรงงาน และการจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ส่วนหนึ่งบริษัทฯ ยังได้ปรับปรุงการขนส่งและบริหารสต็อกรวม ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าพิเศษด้วย ทำให้ผลการดำเนินงานพลิกกลับมาดีขึ้น จากเดิมที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะติดลบหรือใกล้เคียงกับปีก่อนจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักโดยยอดขายในปี 2550 อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของสหพัฒน์โฮลดิ้ง ก็น่าจะมีผลการดำเนินงานคาดว่าจะดีกว่าภาพรวมของกลุ่ม ซึ่งใช้นโยบายเดียวกันกับกลุ่มสหพัฒน์ฯ ในการบริหารต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยคาดว่ากำไรสุทธิในปี 2551 จะเติบโตมากกว่า 30-40% หรืออยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท จากปี 2550 ที่อยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดขายคงปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ส่วนปีหน้ายังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
นายฟูคูจิโร่ ยามาเบะ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลพวงจากวิกฤติสถาบันการเงินโลกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยค่ายรถยนต์โตโยต้า ประกาศว่ายอดขายและกำไรในธุรกิจยานยนต์จะลดลง ดังนั้นเชื่อว่าภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนที่นำเงินมาลงทุนโดยตรงในไทยก็จะลดลงไปด้วย จึงอยากให้รัฐบาลไทยมีมาตรการเพิ่มเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ