xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เกาะติดกำลังจ่ายคืนหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเกาะติดความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ในภาวะที่เศรษฐกิจเปราะบาง ชี้ ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อสภาพคล่องและคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ล่าสุดฉบับเดือนตุลาคมของ ธปท.ได้ระบุว่า เสถียรภาพของสถาบันการเงินในภาพรวมยังคงแข็งแกร่งและสามารถรองรับความเสี่ยงได้ดี โดยความสามารถในการทำกำไรยังคงดีอยู่จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยตามการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่สินเชื่อขยายตัวค่อนข้างมาก ขณะที่เงินฝากขยายตัวต่ำ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจึงค่อนข้างตึงตัวขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวโดยการออกตราสารทางการเงินอื่นเพิ่มเติม เช่น ตั๋วแลกเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่อง

สำหรับในระยะต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยบ้าง เพราะถึงแม้ว่าการลงทุนในตราสารที่ด้อยค่าลงจากปัญหาดังกล่าวมีไม่มากนัก เนื่องจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมีเพียงประมาณ 1.3% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ไทย และตราสารที่มีปัญหายังเป็นส่วนน้อยของสินทรัพย์ต่างประเทศ แต่การไหลออกของเงินทุนนาภาวะที่ตลาดการเงินของสหรัฐฯและประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายประเทศตึงตัวขึ้นมาก ประกอบกับนักลงทุนมีความเสี่ยงด้านลบ (Risk Aversion) เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความต้องการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคกลับไปถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินของไทย รวมถึงระบบธนาคารพาณิชย์อาจตึงตัวในระยะต่อไป นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่แล้ว อาจส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคครัวเรือน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แม้ว่าค่าครองชีพของภาคครัวเรือนสูงขึ้นมากตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น อัตราการผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 1-3 เดือน ของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มปรับลดลง เนื่องจากการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในภาวะที่ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อเบิกเงินสดล่วงหน้าและเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้า และบริการที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปแม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงบ้าง จะช่วยลดความเสี่ยงของภาคครัวเรือนจากปัจจัยค่าครองชีพ แต่อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงเปราะบาง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ภาวะการจ้างงาน และรายได้ครัวเรือน ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนลดลงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บทวิเคราะห์เรื่อง “เสถียรภาพภาคธุรกิจจากความน่าจะเป็นของการผิดนัดชำระหนี้” ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ของ ธปท.ยังระบุว่า จากการประมวลเครื่องชี้ที่เรียกว่า ความน่าจะเป็นของการผิดนัดชำระหนี้ (Probability of Default : PD) ซึ่งเป็นตัววัดความเปราะบางของภาคธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจมีเพียงประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งสะท้อนระดับความเป็นหนี้และสภาพคล่องของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น และสะท้อนความเข้มแข็งทางการเงินของภาคธุรกิจไทย

***รมช.คลังสั่ง ธอส.รับมือซับไพรม์เข้ม

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากวิกฤตการเงินโลกและปัญหาซับไพรม์ ซึ่งหวั่นว่าจะลามมาถึงไทย ตนจึงได้สั่งการให้คณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เร่งติดตามการดำเนินงาน สถานการณ์สินเชื่อหดตัวและดูแลฐานะทางการเงินของธนาคารอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดปัญหาและได้รับผลกระทบ ล่าสุด ธอส.ไม่ได้รับพิจารณาให้เพิ่มทุนจึงอาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธนาคารได้

“แม้ว่า ธอส.จะไม่ได้รับผลโดยตรง และกลัวว่า จะโดนหางเลขด้วย ซึ่งก็พบว่าแผนจะทำแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือ ซีเคียวริไทร์ ของ ธอส.ต้องระงับไปแล้ว เพราะตลาดซีเคียวริไทร์ในต่างประเทศตกต่ำมาก หาก ธอส.จะทำก็อาจขายไม่ออกและอาจสร้างปัญหาต่อเนื่องทางการเงินต่อธนาคารได้”

นายประดิษฐ์ ยังกล่าวถึงควบรวมกิจการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กับ บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษากฎหมายโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งปลายเดือน ต.ค.นี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น