xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จี้แบงก์คุมคุณภาพหนี้หวั่นฉุดศก.-ซ้ำเติมภาคครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ธปท.เตือนระบบแบงก์ดูแลคุณภาพสินเชื่อ หวั่นส่งผลกระทบภาคเศรษฐกิจจริงระลอก 2 และซ้ำเติมฐานะการเงินภาคธุรกิจและครัวเรือนเลวร้ายลงอีก เผยกระแสรายได้ครัวเรือนปรับตัวลดลงมากกว่าภาระอัตราดอกเบี้ยจ่าย แม้ทางการพยายามใช้ดอกเบี้ยนโยบายต่ำ ขณะที่ภาคธุรกิจเจรจาขอยืดหนี้กับสถาบันการเงินมากขึ้น หวังต่ออายุธุรกิจ

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดฉบับเดือนก.ค.ของปีนี้ได้ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสด้อยลงได้อีก รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่วงจรของปัญหาระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน (Adverse Feedback Loop) มีเพิ่มขึ้น และมองว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นปัจจัยหลักต่อเสถียรภาพของภาคธุรกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินเลวลงจากภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารพาณิชย์จะมีความเสี่ยง ซึ่งแรงกดดันนี้ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อจนอาจจะนำไปสู่ภาวะชะงักงันของสินเชื่อ (Credit Squeeze) ทำให้ผลกระทบนี้ย้อนกลับไปยังภาคเศรษฐกิจจริงจนเกิดปัญหาสภาพคล่องได้และยิ่งทำให้ฐานะการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเลวร้ายลงไปอีก

โดยขณะนี้มีสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้มงวดมากขึ้นบ้างในการปล่อยสินเชื่อช่วงที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่รุนแรงนัก อีกทั้งภาครัฐพยายามบรรเทาปัญหาด้วยการสนับสนุนการรับประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee) ของบริษัทขนาดกลางและเล็ก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกนง.จะจับตาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

“เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังคงเปาะบางจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอ แม้พัฒนาการในช่วงที่ผ่านมาจะชี้ว่าเศรษฐกิจในประเทศเริ่มหดตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมยังมีความไม่แน่นอนสูงและถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของไทยในระยะต่อไป ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง”

รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุด แจ้งว่า แม้ภาระอัตราดอกเบี้ยจ่ายของภาคครัวเรือนได้ลดลงบ้างในช่วงที่ผ่านมาตามทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แต่กระแสรายได้ที่ปรับลดลงมากกว่าส่งผลให้สภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลง ซึ่งเห็นได้ชัดจากสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษที่ค้างชำระ 1-3 เดือน และสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท.มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อนหน้า

“ภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนแอ สะท้อนถึงความเปาะบางขอภาคครัวเรือนจากทั้งความเสี่ยงรายได้และการมีงานทำ แม้ล่าสุดอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาได้ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 8.2 แสนคนหรือคิดเป็น 1.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2.1% โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนรายได้ของครัวเรือนลดจำนวนชั่วโมงการทำงานสอดคล้องกับการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ลดลงเช่นกัน ”

ขณะเดียวกันสภาพคล่องของภาคธุรกิจเริ่มตึงตัวมากขึ้นในปัจจุบันจากกระแสรายได้ที่ลดลงและความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ (Corporate Delinquency Ratio) ที่เพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้กลายสภาพเป็นเอ็นพีแอลในสัดส่วนที่สูง ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคธุรกิจไม่ได้มีปัญหาขาดทุนจนไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ขณะเดียวกันลูกหนี้บางส่วนได้เจรจากับสถาบันการเงินในการขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้นานขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจตัวเองเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น