xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยังไม่ปรับเพดาน ดบ. บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล หวั่นเพิ่มความเสี่ยงแบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ยืนยันไม่ปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 20% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28% หลังประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1% หวั่นเพิ่มความเสี่ยงให้สถาบันการเงิน ต้องเข้มงวดมากขึ้น เพราะประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย และอัตราผลตอบแทนในการให้กู้ต่ำลง ขณะที่ความเสี่ยงจะสูงขึ้น เพราะไม่มีผู้ค้ำประกัน

วันนี้ (14 ธันวาคม 2551) นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลง ตามการส่งสัญญาณของ ธปท. ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1 เมื่อในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดภาระกับประชาชน ธปท.ควรจะพิจารณาลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 20 และเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 28

นายเกริก กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว ธปท.กำลังติดตามดูแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบัน และอนาคตของสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทนี้ รวมถึงแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อนำมาพิจารณาว่า ควรจะมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้หรือไม่

ทั้งนี้ ธปท.คงจะต้องมองทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลง จะช่วยเรื่องการชำระเงินรายเดือนของลูกหนี้ แต่อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในส่วนนี้มากขึ้น เพราะอัตราผลตอบแทนในการให้กู้ต่ำลง ขณะที่ความเสี่ยงสูงเพราะไม่มีผู้ค้ำประกัน แต่อีกทางหนึ่งหากคงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลไว้ระดับเดิม เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนในช่วงฉุกเฉิน ซึ่งในช่วงอย่างนั้น มีเงินดอกเบี้ยสูงหน่อยให้กู้ น่าจะดีกว่าไม่มีช่องทางในการข้าถึงแหล่งเงินกู้

ขณะนี้ ธปท.มองว่าในส่วนของเพดานดอกเบี้ย ทั้งกรณีบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ธปท.ยังอยู่ในระหว่างการติดตามแนวโน้ม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าในระยะต่อไป ยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้ เพราะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คนอาจจะต้องการกู้เงินมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คงระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายเกริก กล่าวอีกว่า ขณะนี้ การให้สินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ที่มีการให้เงื่อนไขกับลูกค้าที่จะกู้เงิน ให้ทำประกันเงินกู้ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่เสียชีวิต หรือไม่สามารถส่งได้ ธนาคารจะได้รับเงินกู้คืนจากประกันแทนนั้น ธปท.มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ชาร์จค่าประกันแพงกว่าการทำประกันตามปกติ ก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม การทำประกันเงินกู้หรือไม่ควรจะเป็นการตัดสินใจของลูกค้า ธนาคารพาณิชย์ไม่ควรนำเงื่อนไขนี้มาเป็นเงื่อนไขในการให้กู้ หรือไม่ให้กู้

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ประกาศยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของระบบสถาบันการเงิน ล่าสุด ณ เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ระบบสถาบันการเงินมีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 12,867,379 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. 186,415 บัตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.47 โดยมีปริมาณการใช้จ่ายรวม 76,448.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2,078 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.79 ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้าง มีทั้งสิ้น 182,843.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1,458.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้น 706.11 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 63,423.19 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนบงก์) มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 887.79 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 84,605.29 ล้านบาท ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติมียอดสินเชื่อคงค้างลดลง 135.01 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 34,814.78 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น