ธนาคารโลก เปิดแถลงคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยปรับลดคาดการณ์ “จีดีพี” ของไทย ในปี 2552 โตได้แค่ร้อยละ 2 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี พร้อมจี้รัฐบาลชุดใหม่ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุน
วันนี้ (10 ธ.ค.) นายแมทธิว เวอร์กิส นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงการติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย ล่าสุด พบว่า มีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทำให้ธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.9 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5 โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งจนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกคนใหม่ และเชื่อว่า จะมีแรงกดดันจากการเศรษฐกิจโลก และการค้าที่ถดถอย ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี
ขณะที่ น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง กระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน ทำให้คาดการณ์การส่งออกในปี 2552 เติบโตเพียงร้อยละ 8 จากปี 2551 ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 19.5 นอกจากนั้น การบริโภค การลงทุนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นับว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่ฐานะทางการเงินไม่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตั้งปี 2540 ประเทศไทยดำเนินหลายมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งทางการเงิน ทำให้มีความแข็งแกร่งอยู่ รวมทั้งการที่ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และไม่มีภาระหนี้ต่างประเทศมากนัก ทำให้ความเสี่ยงลดลง และเป็นผลดีที่ไทยมีความยืดหยุ่นกว่าประเทศอื่น ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ของไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ก็จะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อรองรับวิกฤตโลก คือ 1.มีระบบตาข่ายสังคมแก้ปัญหาคนว่างงาน คนจน คนด้อยโอกาสทางการสังคมไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2.เร่งขยายสินเชื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยธนาคารโลกเสนอให้รัฐบาลไทยลงทุนมากขึ้นเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และเร่งนโยบายด้านการค้าเพื่อเปิดตลาดในต่างประเทศ
ขณะที่ในประเทศรัฐบาลชุดใหม่ ต้องพัฒนาคุณภาพและทักษะด้านอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณค่าและแข่งขันต่างประเทศได้ และปรับปรุงระเบียบราชการ ลดขั้นตอนการติดต่อ การค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการดำเนินมาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ส่วนผลกระทบทางการเงินต่อภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ธนาคารโลกคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะลดลงเหลือร้อยละ 0.9 จาก ร้อยละ 2.5 ในปี 2551 ขณะมูลค่าการค้าโลกจะติดลบร้อยละ 2.1 จากที่ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 6.2 ผลกระทบจากวิกฤติการเงินนี้ทำให้สภาพคล่องของโลกลดลงต่ำ ธนาคารทั่วโลกจะระวังการปล่อยสินเชื่อ มีการผ่อนปรนนโยบายการเงิน แต่ดอกเบี้ยของธนาคารไม่ลดลงมาก เงินเฟ้อต่ำลง มูลค่าดัชนีราคาหุ้นลดลงตาม ขณะที่ค่าเงินอ่อนลง แต่การเคลื่อนไหวไม่ผันผวนเท่าในอดีต ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในปี 2554-2555