xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์คาดปีหน้า ศก.โลกเลวร้ายการค้าก็จะติดลบเป็นครั้งแรกใน 26 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ธนาคารโลกออกรายงานในวันอังคาร (9) ชี้ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเลวร้ายลงมากกว่านี้ อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างมาก และมูลค่าการค้าจะดิ่งลงเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี

ในรายงาน “Global Economic Prospects 2009” (คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2009) ฉบับนี้ เวิลด์แบงก์ยังทำนายว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียงแค่ 0.9% และมูลค่าการค้าโลกจะร่วงลง 2.1%

“เศรษฐกิจโลกนั้นมาถึงทางแยก โดยเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะอันต่อเนื่องแห่งการเติบโตที่นำโดยประเทศกำลังพัฒนาที่แข็งแกร่ง เข้าสู่ระยะแห่งความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากวิกฤตการเงินที่มีรากเหง้าอยู่ในพวกประเทศรายได้สูง กำลังสั่นคลอนตลาดการเงินทั่วโลก” จัสติน ลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าวในรายงาน

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวในอัตราราว 4.5% ต่อปีในปีหน้า ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยกว่าจะหดตัวราว 0.1%

“เราทราบว่า ในประเทศกำลังพัฒนา การหดตัวทุกๆ 1% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายความว่า ประชาชนราว 20 ล้านคน สูญเสียโอกาสที่จะยกระดับตัวเองให้พ้นจากความยากจน” ลิน กล่าวในการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของเวิลด์แบงก์ในกรุงวอชิงตัน

ส่วนประเทศที่ริมมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น รายงานนี้บอกว่า จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยจะมีอัตราการขยายตัวราว 5.3% ในปี 2009 เทียบกับ 7.0% ในปีนี้

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออก จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 6.7% เทียบกับ 8.5% ในปีนี้ หากพิจารณาเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดและโลกคาดหมายว่าจะเป็นหลักให้กับเศรษฐกิจระหว่างประเทศแทนโลกตะวันตกนั้นจะมีอัตราการเติบโตในราว 7.5% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบสองทศวรรษ

รายงานที่ธนาคารโลกออกมาล่าสุดนี้ มองสถานการณ์ในทางลบมากกว่ารายงานสถานการณ์ปี 2009 ฉบับที่ออกมาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะในตอนนั้นเวิลด์แบงก์ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะโตในราว 3% โดยที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาแล้วมีอัตราการขยายตัวราว 6.4%

นอกจากนี้ ธนาคารโลกก็ยังมองแง่ร้ายมากยิ่งกว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ที่คาดว่าไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัว 2.2% และประเทศที่กำลังพัฒนาจะเติบโตราว 5.1%

ในรายงานล่าสุดนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ด้วยว่า มูลค่าการค้าโลกจะหดตัวราว 2.1% ในปี 2009 ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการโลกติดลบ “มาจากความต้องการบริโภคที่ลดลงอย่างมาก วิกฤตการเงินที่รุนแรงทำให้ประเทศร่ำรวยประสบกับเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาก็พบว่าอัตราการเติบโตนั้นอ่อนล้าลงอย่างฮวบฮาบ”

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในปี 2009 จะยังสามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นคืออัตราเติบโตอยู่ในระดับติดลบ ซึ่งภาวะนี้โลกไม่เคยประสบมาตั้งแต่ปี 1945 แล้ว

“แต่ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย(ในประเทศรายได้สูง)ที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และในประเทศกำลังพัฒนาก็จะมีอัตราการขยายตัวที่ลดฮวบฮาบในช่วงระหว่างปี 2007-2009 ก็จะฮวบฮาบมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาเช่นกัน” ฮันส์ ทิมเมอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านแนวโน้มกระแสโลก ของเวิลด์แบงก์ กล่าวในการแถลงข่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกก็ยังได้กล่าวว่าการประมาณการนี้อาจจะไม่ถูกต้อง “เพราะสถานการณ์นั้นเต็มไปด้วยความผันผวนรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อทั้งผู้เล่นในตลาด และต่อทั้งผู้ประเมินสถานการณ์ ไม่ได้แตกต่างกันเลย”

และด้วยเหตุนี้เวิลด์แบงก์ จึงได้เตือนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะย่ำแย่ลงไปได้มากกว่านี้และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะลุกลามไปทั่วโลกได้

“ในสถานการณ์เช่นนี้ บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้สูง จะต้องเตรียมพร้อมที่จะฝ่าฟันสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างที่สุด อย่างเช่น ภาวะไร้อัตราการเติบโตโดยสิ้นเชิง” ธนาคารโลก กล่าว

และยังรวมไปถึง “ความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกจะลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พร้อมทั้งการล้มละลายทางการเงินซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนสินเชื่อแม้ในกลุ่มลูกหนี้ชั้นยอดเยี่ยม”

การทำนายของเวิลด์แบงก์คราวนี้ ยังระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะลดลง 23% ในปีหน้า ซึ่งทำให้ภาวะเฟื่องฟูของตลาดนี้ติดกันมาห้าปีสะดุดลงโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกก็จะฟื้นตัวขึ้นในปี 2010 โดยจะมีอัตราการเติบโตรวมที่ 3% และมูลค่าการค้าจะพุ่งขึ้น 6%

แม้ว่าจะมีความผันผวนในภาคการเงินและเศรษฐกิจ แต่ธนาคารโลกก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าความพยายามของนานาชาติในการลดระดับความยากจนของโลกในช่วง 2010 - 2015 ก็ยังคงจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งจะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้นราว 4.6% ซึ่งเร็วกว่าอัตราเฉลี่ย 2.1% ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 0.6% ของทศวรรษ 1980

ธนาคารโลกจึงกล้าฟันธงในท้ายที่สุดว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนานี้ จะทำให้ในภาพรวมประเทศเหล่านี้สามารถลดคนยากจนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 ตาม “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ” ที่ได้ตั้งเอาไว้ในปี 2000
กำลังโหลดความคิดเห็น