สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ได้รายงานถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยุโรปว่า ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนตุลาคม 2551 กลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยมาอยู่ที่ระดับ 0.9 พันล้านยูโร ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของตลาดที่คาดไว้ว่าจะขาดดุลต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ - 4.5 พันล้านยูโร โดยที่ภาคการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.0% yoy มีมูลค่า 141.2 พันล้านยูโร และชะลอตัวลงจากการขยายตัวที่ระดับ 9.0% yoy ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคการนำเข้ากลับมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยขยายตัวได้เพียง 3.0% yoy มีมูลค่า 140.3 พันล้านยูโร ส่งผลให้โดยรวมแล้วในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี2551 ภาคการส่งอออกขยายตัวได้เพียง 6.0% ในขณะที่ภาคการนำเข้าขยายตัวได้ในระดับ 10.0% yoy ในขณะที่ภาคการส่งออกไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่น ยังคงมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ภาคการส่งออกของยูโรโซนไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่นมีการชะลอตัวลง -3.0% และ -2.0% yoy ตามลำดับ
โดย SCRI ได้ประเมินแนวโน้มของภาคการค้าต่างประเทศของยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปีนี้ จนถึงปี 2552 ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงแต่ทิศทางโดยรวมแล้วเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของระดับราคาน้ำมัน ที่ช่วยทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลได้อีกครั้ง ซึ่งยังเชื่อว่าทิศทางโดยรวมของภาคการส่งออกของยูโรโซน ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปี 2552 จะยังคงมีทิศทางที่จะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงแต่จะเห็นยอดการส่งออกไปยังตลาดหลักชะลอตัวลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มลุกลามไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องนั้น คาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบไปถึงยอดการส่งออกของยูโรโซนไปตลาดใหม่ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในระยะหลังอย่าง จีน รัสเซีย และยุโรปตะวันออก ให้ชะลอตัวลงตามไปด้วย ทำให้ภาพรวมในตลาดส่งออกของยูโรโซนยังดูจะเป็นการชะลอตัวไปในตลอดปี 2552 แต่อย่างไรก็ตาม จากการปรับลดลงในอัตราเร่งของราคาน้ำมันในตลาดโลก ได้ส่งผลให้ภาคการนำเข้าเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และจะส่งผลบวกไปถึงดุลการค้าของยูโรโซนให้มีการปรับตัวเป็นลบไม่มากนัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นมุมมองที่ปรับตัวดีเพิ่มขึ้นจากในเดือนที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรในเดือนที่ผ่านมา ไม่แย่ลงไปจากเดิมมากนัก
ดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลงตามสหรัฐฯ
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจนอยู่ในกรอบ 0-0.25 % ในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางชาติต่างๆได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามดังนี้ ธนาคารกลางฮ่องกงปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.5 % สู่ระดับ 0.50 % ธนาคารกลางคูเวต ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.5 % สู่ระดับ3.75 % ธนาคารกลางซาอุดิอาระเบีย ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.5 % สู่ระดับ 2.50 % ขณะที่ธนาคารกลางนอร์เวย์ ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 1.75 % สู่ระดับ 3.0% รวมไปถึงธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.5 % สู่ระดับ 5.5 %
SCRI ประเมินว่าการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตามสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติการเงินซึ่งขณะนี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งกระทบทุกประเทศทั่วโลก และคาดว่าท้ายที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้ที่ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะอยู่ในช่วง 0.25-0.75 %
ขณะเดียวกันยังมองว่าการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5 % และได้ส่งสัญญาณเร็วๆนี้ว่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงเหมือนที่สหรัฐฯ กระทำนั้น เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาด เพราะขณะนี้ สิ่งที่ยุโรปเผชิญอยู่ คือปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐฯมากนัก ดังจะเห็นจากเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้ว นอกจากนี้ ผู้นำยุโรปยังไม่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองมากพอในการที่จะผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่ประกาศในช่วงต้นเดือนธันวาคม ดังนั้น การที่ธนาคารกลางยุโรปแสดงท่าทีลังเลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับที่รุนแรง พร้อมๆกับที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) มีความล่าช้าที่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนจนบังเกิดผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sectors) ทำให้ SCRI มีความกังวลต่อเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างมากรวมทั้งแนวโน้มของสกุลเงินยูโร ผนวกกับความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรปนั้นอาจจะแสดงถึงความผิดพลาดในการประเมินผลกระทบทางลบของวิกฤติเศรษฐกิจดังที่แสดงมาแล้วในช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 % โดยเพิกเฉยต่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยที่แสดงออกมาเป็นระยะๆ
GDP รัสเซียลดตามราคานํ้ามัน
สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่าในปี 2552 เป็นปีที่ยากลำบากของประเทศรัสเซียและคาดว่าแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP growth rate) ของรัสเซียจะมีการขยายตัวในระดับที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานปรับลงรวมถึงการถดถอยของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากรัสเซียลงทุนจำนวนมากไปกับการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและพลังงาน โดยการส่งออกกว่า 65 % คือก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งมียุโรปเป็นตลาดหลัก ที่มีมูลค่าการส่งออกโดยรวม ประมาณ 50% ซึ่งในปี 2552 เศรษฐกิจยุโรปนั้นมีแนวโน้มจะหดตัวลง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมิน ณ เดือนธันวาคม 2551 ว่าเศรษฐกิจของประเทศภาคพื้นยุโรปอาจจะหดตัวลงที่ -0.5yoy ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจรัสเซีย นั่นคือการปรับลงของราคาน้ำมัน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี2552 จะมีราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ 68 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือราคาน้ำมันในปี 2552 ปรับลง 32% เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยการปรับลงของราคาน้ำมันจะส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ดังจะเห็นจากตัวเลขของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Production Index) รายเดือนของรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงอยู่ที่ -8.7% yoy ถือเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
ทางด้านค่าเงินรูเบิลของรัสเซียนั้นมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากราคาน้ำมันปี 2552 ที่คาดว่าจะต่ำกว่าปี 2551 และ ปี 2550 ทั้งนี้ มองว่าในปี 2552 รัสเซียอาจจะปล่อยให้ค่าเงินของตนเองอ่อนค่าลงอีกเพื่อที่จะช่วยเหลือภาคการส่งออกและภาคการลงทุนในประเทศซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงานค่อนข้างสูง โดยในช่วงปลายปี 2551 รัสเซียปล่อยค่าเงินอ่อนค่าลง 6 %
อย่างไรก็ตาม SCRI มองว่าในอีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า รัสเซียยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง หากอาศัยปัจจัยบวกอาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (อันดับหนึ่งคือจีน อันดับ 2 คือญี่ปุ่น) โดยอยู่ที่ประมาณ 507,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการที่หนี้สาธารณะของรัสเซียอยู่ในระดับที่ต่ำมากคืออยู่ที่ประมาณ 6.7% ต่อ GDP รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองที่แข็งแกร่ง แปรเป็นนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจเน้นไปที่การวางรากฐานอุตสาหกรรมและการผลิตในประเทศใหม่โดยไม่ให้เศรษฐกิจรัสเซียพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมพลังงานเพียงอุตสาหกรรมเดียว
ทั้งนี้ประเมินว่ารัสเซียมีทรัพยากรทางการเงินและศักยภาพทางการคลังในการใช้งบประมาณเพื่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและภาคการผลิตของประเทศใหม่ได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2552 และ2553 รัสเซียอาจจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและเติบโตในอัตราที่ต่ำแต่ถ้ารัสเซียเดินหน้าปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยกระจายอุตสาหกรรมการผลิตไปหลายๆด้าน ในอนาคต รัสเซียจะกลับมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกอีกครั้ง