xs
xsm
sm
md
lg

เทียบนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐกับไทย อะไรเป็นปัจจัยนำเราออกจากวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คอลัมน์คมความคิดเศรษฐกิจมหภาค
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
รองคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ GSPA NIDA


การสั่นคลอนของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีชนวนเหตุมาจากวิกฤตระบบการเงินสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโจทย์ที่ทุกประเทศต่างต้องหาสูตรที่ดีที่สุดมาแก้ไขให้ผ่านพ้นวิกฤติ เพื่อให้มองเห็นภาพโดยรวมของแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศต้นตอวิกฤติอย่างสหรัฐ แล้วย้อนมามองดูตัวเราเองของประเทศไทย เราจะมาดูนโยบายการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา กันก่อน

ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาบริหารประเทศ คือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือว่ามีแนวคิดคนละมุมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยพรรคเดโมแครต (ที่กำลังจะขึ้นบริหารประเทศ โดย นายบารัค โอบามา) จะใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เรียกว่า Demand side policy เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคเป็นเกษตรกร กรรมกร และประชาชนคนทำงานทั่วๆ ไป ดังนั้น เมื่อจะใช้นโยบายเศรษฐกิจก็จะเน้นประชาชนกลุ่มนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะใช้นโยบายที่ทำให้ภาคประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น มีสวัสดิการที่ดี อันจะนำไปสู่การใช้จ่ายมากขึ้นของภาคประชาชน และใช้กำลังซื้อนี้ในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในขณะที่พรรคริพับลิกันจะนิยมใช้นโยบาย Supply side policy เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็น ภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ดังนั้นนโยบายหลักในการบริหารประเทศก็จะเน้นการช่วยผู้ประกอบการก่อนเป็นอันดับแรก โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้เริ่มต้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาคเอกชนซึ่งก็จะก่อให้เกิดการจ้างงาน มีรายได้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ จากนโยบายของ 2 พรรคที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยเน้นการขับเคลื่อนคนละวิธีการ จะเห็นได้ว่า เวลาที่พรรคเดโมแครตบริหารประเทศก็จะมีผลอีกแบบหนึ่ง คือประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างดี สวัสดิการดี และจะให้ความสำคัญในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งพร้อมที่จะกีดกันการค้าเพื่อให้คนของเขามีงานทำมากขึ้น แต่ถ้าพรรครีพับรีกันบริหารประเทศก็จะให้ความสำคัญกับต่างประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างที่พัฒนาแล้วของสหรัฐอเมริกานั้น บทบาทการใช้จ่ายของภาคประชาชน กับบทบาทการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะใกล้เคียงกัน กล่าวคือไม่ว่า การใช้นโยบายใดก็ตาม ผลของเศรษฐกิจก็จะออกมาเกือบจะไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเท่าไรนัก

สำหรับประเทศไทย นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มาบริหารประเทศ ส่วนใหญ่ จะมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งคงเป็นเพราะรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศมักจะเป็นในลักษณะรัฐบาลผสมหลายพรรค นโยบายของพรรคที่ไม่ต่างกันมากมาจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ

คราวนี้มาดูการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ 2 ด้านหลักๆ คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ที่เป็นเครื่องมือในเชิงมหภาคในการดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายการเงินนั้นเป็นนโยบายที่มีเครื่องมือสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยที่ได้รับความนิยมแต่ก็มีข้อจำกัด เป็นกลไกที่เหมาะสมในบางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และใช้ไม่ค่อยได้ผลในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น การ ลดดอกเบี้ยก็มีจุดสิ้นสุด เมื่อเข้าใกล้ศูนย์เครื่องมือนี้ก็จะไม่ได้ผล

ประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.2-0.3% สหรัฐอเมริกาก็ลดดอกเบี้ยลงมาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่ต้นปีจากระดับ 5.25% จนลดลงมาปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ซึ่งภายใน 1 ปีลดลงไปถึง 5% ขณะที่ยุโรปเอง ตอนนี้ธนาคารกลางยุโรปปรับลดดอกเบี้ยลงมาล่าสุดอยู่ที่ 2.5% ของอังกฤษตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ส่วน ประเทศไทยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.75%

สำหรับสหรัฐอเมริกา ขณะนี้นาย บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เตรียมเสนอมาตรการ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสร้างสาธารณูปโภคมูลค่ากว่า 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และภายในอีก 2 ปี หลังจากนั้นจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปอีก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นการ ใช้นโยบายการคลังโดยการใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามาเสริม

ในส่วนของประเทศไทย เครื่องมือทางการเงินยังพอใช้ได้อีกระยะหนึ่ง แต่ในภาวะเช่นนี้การใช้นโยบายการเงินอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอแล้ว เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลงแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่าการลงทุนจะเกิดขึ้น เนื่องจาก การลงทุนจะเกิดขึ้นต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ความเชื่อมั่น บรรยากาศการลงทุน ซึ่งถ้าเอกชนไม่ลงทุน เศรษฐกิจก็ไม่หมุน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังนำหน้า

สำหรับปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณแบบขาดดุลค่อนข้างสูงคือ 2.49 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พอสมควร ประกอบกับที่เสนอเพิ่มเข้ามาอีก 1 แสนล้านบาทเป็นงบกลางปี รวมเป็น 3.49 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยดูแลเศรษฐกิจในปีหน้าแทนภาคประชาชน ที่ยังกลัวๆ กล้าๆ ในการใช้จ่ายและภาคเอกชนที่ยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงทุน

ทั้งนี้ ในเรื่องของการลงทุนภาครัฐนั้น มีนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อ John Maynard Keynes เคยเสนอแนวทางไว้ว่าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำการลงทุนภาครัฐมีความจำเป็นโดยควรลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจะมีผลดีในระยะยาว เพราะฉะนั้นในปีหน้า สิ่งที่จะช่วยได้คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จะทำซึ่งมีผลดีต่อเศรษฐกิจ และระยะยาวจะช่วยให้เพิ่มพูนศักยภาพในการผลิตและในการแข่งขันซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่ง

ดังนั้น หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจะให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารการคลังมากขึ้น ในช่วงของปีงบประมาณ 2552 และถ้าได้ผู้บริหารที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ สามารถ มองภาพเศรษฐกิจมหภาคได้ทะลุปุโปร่ง และมีความเข้าใจด้านการเงินดีก็จะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตการ ทางการเงินที่กำลังลามมาในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และนำพาเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติปี 2552 ไปได้ด้วยดี
นายบารัค โอบามา
กำลังโหลดความคิดเห็น