xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ชิมลางว่าที่ขุนคลัง หารือร่วม ผอ.ธนาคารโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
รอง หน.ปชป.หารือร่วม ผอ.ธนาคารโลก ยันสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลเก่า แต่ต้องปรับตามสภาพและสถานะการเงิน ยอมรับปัญหาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปฏิเสธรับบทขุนคลังแน่นอนแล้ว

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้อำนวยการภูมิภาคธนาคารโลกว่า ได้พูดคุยถึงโครงการที่ธนาคารโลกได้ดำเนินในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน และความพร้อมของธนาคารโลกที่จะสนับสนุนโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ รวมถึงความพร้อมของธนาคารโลกในการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ กรณีที่อาจจะมีแผนใช้งบประมาณเพิ่มเติม วันนี้จึงเป็นการรับฟังข้อมูลจากทางธนาคารโลก นอกจากนี้ ตนยังได้ขอให้ทางธนาคารโลกนำเสนอข้อมูลแนวคิดเกี่ยวกับแหล่งทุนที่จะให้กับประชาชนรากหญ้า เนื่องจากธนาคารโลกในประเทศต่างๆ มีประสบการณ์นำเสนอโครงการ การเข้าถึงแหล่งทุนให้ให้กับรากหญ้าอินโดนีเซีย ซึ่งน่าจะนำมาใช้ประโยชน์กับประชาชนคนไทยได้

เมื่อถามว่าการเข้าพบของธนาคารโลกครั้งนี้สอดรับกับโผ ครม.ที่จะไปรับตำแหน่ง รมว.คลัง นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ ตนรู้จักกับธนาคารโลกมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อเห็นว่าทางพรรคจะจัดตั้งรัฐบาลธนาคารโลกจึงอยากนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตนจึงรับหน้า ส่วนความรับผิดชอบว่าใครจะมาดูแลเรื่องนี้อีกไม่นาน พรรคคงจะประกาศออกมาให้ทราบ

เมื่อถามว่าธนาคารคโลกมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจขณะนี้อย่างไรบ้าง นายกรณ์ กล่าวว่า เขาตระหนักดีว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังมีปัญหา จึงน่ากังวลกับประเทศคู่ค้าซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากกว่าประเทศไทย ในแง่เสถียรภาพการเงินของไทยยังคงมีความมั่นคง แต่เป็นห่วงเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการส่งออกที่ยังเป็นปัญหา และระดับบริโภคภายในประเทศที่มีการชะลอตัว แต่ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาเศรษฐกิจของเราหากมีความตั้งใจและมีแนวคิดเชิงนโยบาย ที่ชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติน่าจะเป็นปัญหาที่รักษาเยียวยาได้

ต่อข้อถามว่า ปัญหาทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาของบ้านเราส่วนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งในสังคม เพราะฉะนั้น นโยบายเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ต้องควบคู่กันระหว่างปัญหาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมือง ซึ่งความตั้งใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกฯ จะสร้างบรรยากาศให้มีความสามารถการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าจะมีโนบายเศรษฐกิจที่จะดูแลคนรากหญ้าแบบเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยทำมาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจนส่วนหนึ่งมีผลจากการชะลอตัวของคู่ค้าทางเศรษฐกิจ คือ ราคาพืชผลเกษตร ซึ่งแม้ภาคเกษตรจะเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่กระทบกับพี่น้องประชาชนระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะต้องเข้ามาแก้ไขโดยส่วน อีกปัญหาคือเรื่องการจ้างงาน ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งทุน มีปัญหามากขึ้นเนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าลดน้อยลง อาจจะมีผลต่อการว่างงานมากขึ้นในช่วงปี 52 เพราะฉะนั้น 2 ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาเยียวยา

ต่อข้อถามว่าจะสานต่อรัฐบาลนโยบายของรัฐบาลเดิมหรือไม่ เช่น งบกลางปี 1 แสนล้านบาท หรือโครงการเมกะโปเจกต์ นายกรณ์ กล่าวว่า เรื่องของงบกลางปี เป็นข้อเสนอที่ทาง ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ เคยนำเสนอรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตั้งแต่สมัยแรกๆ เพราะฉะนั้น แนวคิดนี้สอดคล้องกันอยู่แล้ว และมีความตั้งใจที่จะสานต่อในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชนบทการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนรากหญ้า ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของประชาธิปัตย์แต่เดิม ซึ่งจะต้องสานต่อ ดังนั้น ตนจึงได้ติดต่อผ่านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ตั้งแต่แรก ซึ่งเชื่อว่าจะมีการพูดคุยเพื่อมอบหมายงานอีกครั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครในฝั่งประชาธิปัตย์จะรับผิดชอบเรื่องอะไร ซึ่งตรงนี้ประชาชนสบายใจได้ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์เราทำต่อแน่นอนเพราะเรายึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่มีการกีดกันที่มาของความคิด ทั้งนี้ ตนจะเสนอว่าจะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาทตรงนี้อย่างไร ซึ่งคงไม่มีปัญหาเพราะพรรคเห็นด้วยเรื่องนี้มาตั้ง แต่แรกแล้ว โดยจะดูว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาใช้ และนำไปใช่ในส่วนใดบ้าง

นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนทำมาก่อนนั้น ตนเห็นว่า ข้อเสนอของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่หาเสียงไว้จะต้องดูว่าที่ทำจริงๆ มีกี่สายและดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และแนวคิดของประชาธิปัตย์ก็สนับสนุนเห็นความสำคัญ ของการสร้างทางเลือกในการจราจร และพรรคพูดมาตั้งแต่แรกว่าเรื่องรถไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะต้องประเมินตามความเหมาะสมว่าจะจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางไหนก่อนหลัง และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น การที่จะยึดหลักว่าอะไรที่เคยพูดไว้เมื่อ 4-5 ปีก่อน แล้วจะทำเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้ ดังนั้นคงต้องดูความต้องการตามสถานภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้พรรคต้องสร้างความชัดเจนให้กับประชาชน

เมื่อถามว่าประเมินเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไรบ้าง นายกรณ์ กล่าวว่า ตนมองอย่างที่คนอื่นมอง ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาส 1 ปีหน้ามีโอกาสติดลบสูง แต่คาดว่าถ้าเราเข้ามาแก้ไขเรื่องเฉพาะหน้า เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเข้าถึงแหล่งเงินของธุรกิจเอสเอ็มอี เศรษฐกิจก็น่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2-3 ในปีหน้า แต่หากไตรมาส 4 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ประสบปัญหา เศรษฐกิจก็น่าจะดีกว่าปีนี้แน่นอน ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจจะออกมาเท่าไหร่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายเพราะไม่เคยบริหารงานลักษณะนั้น ตนถือว่าอัตราการขยายตัวจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับแนวทางการบริหาร ไม่มีประโยชน์ที่จะไปกำหนดเป้าหมายโดยเฉพาะ เมื่อมีความผันผวนมากขนาดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น