บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลเเละบทวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าบทวิเคราะห์นี้น่าสนใจเลยทีเดียว มาดูกันว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยนักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดว่ากลุ่มประเทศ BRIC จะมีส่วนถึง 90% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้า จากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั้งหมดที่คาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 125% ของการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลก ในขณะที่ประเทศในเศรษฐกิจหลักมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และแม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเติบโตในอัตราที่ลดลงในปีหน้า แต่จะยังคงเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศ BRIC
คาดว่าตัวเลขการส่งออกสุทธิของกลุ่มประเทศ BRIC จะมีอัตราการเติบโตที่ติดลบในปีหน้า โดยเฉพาะประเทศจีนและบราซิล ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขบัญชีดุลเดินสะพัดยังคงเป็นบวกอยู่ถึงกว่า 4% ของ GDP ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนี้จะมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
แม้ว่าอัตราการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศจะติดลบในปี 2009 สำหรับประเทศสหรัฐฯ ยุโรปและกลุ่มประเทศ G7 แต่การบริโภคภายในประเทศของกลุ่มประเทศ BRIC คาดว่าจะยังคงเติบโตได้ 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้อัตราการบริโภคของโลกยังอยู่ในแดนบวก
(รูป 1)
GDP จีนเติบโต 9% ในไตรมาสสามเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งลดลงจาก 10.1% ในไตรมาสสองที่ผ่านมา การชะลอตัวนี้มีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง
(รูปที่2)
ธนาคารกลางประเทศจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงค่อนข้างแรงถึง 1.08% โดยดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงสู่ระดับ 5.58% และ 2.52% จาก 6.66% และ 3.60% ตามลำดับ
(รูปที่ 3)
ค่าเงินบราซิลและรัสเซียอ่อนค่าลงในเดือนที่ผ่านมา โดยค่าเงินบราซิลอ่อนค่าลงมากที่สุดที่ระดับ 5% ซึ่ง ต่างจากค่าเงินหยวนจีนและรูปีของอินเดียที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
(รูปที่ 4)
ดัชนีตลาดหุ้นทั้ง 4 ประเทศในกลุ่ม BRIC ปรับตัวลดลงอย่างมากในเดือนพฤศจิกายน ยกเว้นดัชนี Shanghai A ของจีน ที่ปรับตัวขึ้น 9.2% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียยังคงเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดอีกครั้ง
เมืองลุงเเซม จะลดดอกเบี้ยอีก
ส่วนสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกับสถานะทางการเงินของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเคยเป็นกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้าคุ้มครองพร้อมกับให้เงินจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ จากแผนกู้เศรษฐกิจ 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศสองโครงการเข้าช่วยเหลือตลาดผู้บริโภค โดยมีการอัดฉีดเม็ดเงินสูงถึง 800,000 ล้านดอลลาร์ โครงการแรก คือ เฟดจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ และจะเข้าซื้อตราสารหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ค้ำประกันโดย แฟนนีเม, เฟรดดีแมค และจินนี่ เม ส่วนอีกโครงการนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังอัดฉีดเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าช่วยเหลือสินเชื่อผู้บริโภคส่วนบุคคล
โดยครอบคลุมสินเชื่อการศึกษา, การเช่าซื้อรถและบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม ถึงรัฐบาลสหรัฐฯจะใช้ความพยายามอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ตลาดหุ้นยังคงร่วงสวนทางกับราคาพันธบัตร เพราะนักลงทุนมีความวิตกกังวลว่าเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ทางการอัดฉีดนั้น จะไม่สามารถกู้วิกฤตเศรษฐกิจที่ประสบอยู่ในขณะนี้ได้จริง นักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0.5% ขณะที่ประมาณการอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นอยูที่ 9% ภายในปี 2009
EU เริ่มใช้นโยบายการเงิน
สำหรับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปเริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอยต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากไตรมาสที่ 3 ปี 2008 เป็นต้นมา การบริโภคทั้งหลายลดลง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงด้วย รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้นโยบายทางการเงิน เช่น ธนาคารกลางยุโรปได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงระหว่าง 0.5% - 1.5% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้แผนการเพิ่มเงินจำนวน 20,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.5% ของ GDP ยุโรปเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วย
เเดนปลาดิบบริษัทใหญ่ขาดสภาพคล่อง
ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมที่ผ่านมานั้น ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงไตรมาสที่สาม และคาดว่าญี่ปุ่นจะอยู่ตกอยู่ในสภาวะนี้จนถึงกลางปีหน้า นักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP ในปีนี้จะลดลงเหลือ 0.3% จาก 0.7% และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.3% และคาดว่าจะตรึงอยู่ที่ระดับอัตรานี้ถึงสิ้นปี 2009 ธนาคารกลางญี่ปุ่นแถลงว่า บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่สถานะทางการเงินของบริษัทขนาดเล็กอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเพื่อคลี่คลายปัญหาสินเชื่อตึงตัว ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการใช้บัญชีสินเชื่อทางธุรกิจเป็นหลักทรัพย์ค้ำ
ในขณะเดียวกลุ่มประเทศในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ถูกปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2009 และ 2010 ลงเช่น ประเทศอินเดีย สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น อุปสงค์ภายในประเทศได้ลดต่ำลงเช่นเดียวกัน รัฐบาลของจีนได้ออกมาตรการทางการเงินและการคลังรองรับไว้แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้อีกในครึ่งปีหลังของปี 2009
เมื่อเร็วๆนี้ จิม โอนีล นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศตลาดเกิดใหม่ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวต่อไปได้ หลังจากเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาจนถึงญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะถดถอย
"สี่ประเทศในกลุ่ม BRIC มีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ อัตราการลงทุนในประเทศกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ได้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศ BRIC เป็นความหวังที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น"โอนีลกล่าว
ที่ผ่านมานั้น ผู้นำจีนพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่ารวม 4 ล้านล้านหยวน (5.86 แสนล้านดอลลาร์) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. เพื่อกระตุ้นอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หลังจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจลดการนำเข้าสินค้าจากจีน
โดย ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านการเงินทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งครอบคลุมถึงโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ ถนน รถไฟ และท่าอากาศยาน การลดหน่อยภาษีสำหรับนิติบุคคล และการสนับสนุนเกษตรกร
นอกจากนี้ โอนีลคาดว่า บราซิลจะก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจภายในปีพ.ศ. 2593 ถ้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลยังคงอยู่ที่ 3.5% ต่อปี
"ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในประเทศกลุ่ม BRIC อาทิ ความแตกต่างเรื่องมลภาวะ ย่อมอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า เพราะเหตุใดเศรษฐกิจของบราซิลจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังสามารถยืนหยัดอยู่ในกลุ่ม BRIC ได้ การที่รัฐบาลบราซิลตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวขึ้นในอัตรา 5% ภายใน 2-3 ปีหน้านั้น ถือเป็นเป้าหมายที่ดี และถ้าบราซิลยังคงยึดมั่นในเป้าหมายการขยายตัวที่ระดับ 4.5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็จะช่วยให้บราซิลไปถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ได้" โอนีลกล่าว
ขณะเดียวกัน บราซิลยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในด้านบวกจากสถาบันจัดอันดับหลายแห่ง เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่ปลอดหนี้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆในกลุ่ม BRIC