xs
xsm
sm
md
lg

รอสัญญาณภาวะเงินเฟ้อต.ค. ลุ้นเฟดลดดบ.กระตุ้นซื้อหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (AYF) ได้จัดทำรายงานภาวะตลาดประจำสัปดาห์ (27 - 31 ตุลาคม 2551) ซึ่งทีมงานผู้จัดการกองทุน เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่าน และผู้ลงทุนที่สนใจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาวะการลงทุนในช่วงนี้ที่ยังคงมีความผันผวนจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ แม้รัฐบาลในหลายประเทศจะออกนโยบายมาแก้ไขหรือรองรับปัญหาดังกล่าวอย่างมากมายก็ตาม

เศรษฐกิจโลก: IMF อนุมัติตั้งกองทุนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีประวัติการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี แต่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง

สหรัฐอเมริกา: ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 โดยเฟดระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก ในขณะที่ความวุ่นวายในตลาดการเงินมีแนวโน้มที่จะจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค เฟดจึงลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตสินเชื่อลุกลามออกไปมากกว่านี้ พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่า เฟดอาจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไปหากมีความจำเป็น

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 0.3 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5 โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ลดลงมากที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ภาคธุรกิจปรับลดการลงทุนและการจ้างงานลง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมในวันที่ 16 ธันวาคม

ยุโรป: อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ในเดือนกันยายน การที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 ในสัปดาห์หน้า

ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือนตุลาคม ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจของเยอรมนีในเดือนนี้ปรับตัวลดลงสู่ 90.2 จากระดับ 92.9 ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะที่ อัตราการว่างงานของเยอรมนีในเดือนตุลาคม ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานของเยอรมันยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อย่างไรก็ตาม การที่ยอดขายรถยนต์ของผู้ผลิตหลายรายลดลงอย่างมาก ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบในไม่ช้านี้

ญี่ปุ่น: ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.20 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงสู่ร้อยละ 0.3 เนื่องจากธนาคารกลางมองว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีสูงขึ้น ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ย่ำแย่

จีน: ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงประเภทละร้อยละ 0.27 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 สัปดาห์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.66 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3.60

ไทย: ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า **เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 16.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากความวุ่นวายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมโดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ภาคการเกษตรที่ยังดีอยู่**

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 19.5 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 38.6 และเกินดุลการค้า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตลงรวมร้อยละ 20 – 30 ในไตรมาสแรกของปีหน้า และอาจลดการจ้างงานลงประมาณร้อยละ 10 – 15

นอกจากนี้ ธปท. ยังระบุว่า การส่งออกที่ชะลอตัวลงจะส่งผลให้การจ้างงานลดลง ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.8 ทางด้านนโยบายการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังเผยว่าจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ของจีดีพีจากเดิมที่ร้อยละ 2.4 ของจีดีพี ซึ่งเกินกรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดเพดานไว้ที่ร้อยละ 2.5 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ารัฐบาลมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลจะใช้เงินเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และมีการจ้างงานมากขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องกู้เงินและออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และปรับโครงสร้างหนี้รัฐบาล และในระหว่างสัปดาห์ คณะรัฐมนตรี มีมติยืดเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนไปถึง 10 สิงหาคม 2554

ตลาดตราสารหนี้
รัฐบาลเพิ่มงบประมาณกลางปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาทเพื่อช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของปีหน้าให้ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 โดยงบประมาณส่วนเพิ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นผ่านทางธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (เอสเอ็มแอล) อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ 2 – 22 bps

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 สู่ร้อยละ 1 และธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.20 สู่ร้อยละ 0.30 เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะอ่อนแอ ตลาดรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนตุลาคม ซึ่งจะประกาศในวันจันทร์ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในเดือนกันยายน

ตลาดตราสารทุน
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในวันจันทร์ ส่งผลให้ทางตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศยุติการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิต เบรคเกอร์) เนื่องจากดัชนีปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 10 และปิดสิ้นวันลดลงร้อยละ 10.50 อย่างไรก็ตาม ตลาดฟื้นตัวในวันต่อๆมาตามตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก การที่ตลาดคาดหวังว่าเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงมามากและทำการปิดฐานะการชอร์ตหลักทรัพย์ ในเวลาต่อมา ที่ประชุมเฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 1.00 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ1.25 ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี สู่ร้อยละ 0.30

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 0.3 น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5 สำหรับปัจจัยในประเทศ รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.93 ล้านล้านบาท และส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 3.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ที่มา: บลจ.อยุธยา จำกัด
ตาราง: Bloomberg
กำลังโหลดความคิดเห็น